ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ผอ.รพ.บางพลี” เผยที่มา เหตุปัญหาผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดสิทธิ ขรก.ที่ต้องใส่สายสวนหัวใจ หากถูกส่งมา รพ.ที่ไม่มีศักยภาพรักษา และต้องส่งต่อไป รพ.เอกชนที่รักษาได้ จะเสียสิทธิเบิกจ่ายฉุกเฉินทันที ต่างจากบัตรทองที่เบิกได้ หรือถ้าส่ง รพ.รัฐก็ติดปัญหาไม่เปิดฉุกเฉินนอกเวลาราชการ ก่อนหารือจนได้วิธีจ้างเหมาเอกชน รักษาผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดฉุกเฉิน 24 ชม. ทั้งช่วยลดความเสี่ยง รพ.ขาดทุน แก้ปัญหาบุคลากรขาดแคลน แถมเพิ่มศักยภาพ รพ.ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง เผยเป็น รพ.สธ.แห่งแรกที่ใช้วิธีนี้

ด้วยข้อจำกัดสิทธิรักษาพยาบาลระบบสวัสดิการข้าราชการในภาวะฉุกเฉินที่กำหนดให้เบิกจ่ายเฉพาะสถานพยาบาลแรกรับผู้ป่วย ข้อจำกัดศักยภาพการบริการโรงพยาบาลทั่วไปในการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด ข้อจำกัดการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลศูนย์ ทั้งปัญหาเตียงเต็ม ผู้ป่วยล้น และข้อติดขัดการบริการโรงพยาบาลรัฐที่บางแห่งจำกัดเพียงเวลาราชการ ล้วนแต่ส่งผลต่อการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดในภาวะวิกฤตที่ต้องแข่งขันกับเวลา

จากสถานการณ์ข้างต้น ประกอบกับแนวคิดของการมองประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที นำมาสู่แนวคิดการบริหารจัดการในรูปแบบใหม่ของ “โรงพยาบาลบางพลี” หนึ่งในโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ขนาดเล็กสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยการดึงภาคเอกชนเข้าร่วมบริการผู้ป่วย จัดตั้ง “ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด” ในพื้นที่โรงพยาบาล 

นพ.นำพล แดนพิพัฒน์

นพ.นำพล แดนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางพลี จ.สมุทรปราการ เล่าว่า แนวคิดนี้เกิดขึ้นเนื่องจากได้เห็นปัญหาการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดในสิทธิข้าราชการที่ต้องได้รับการใส่สายสวนหัวใจ เพราะเมื่อถูกนำส่งเข้ามายังโรงพยาบาลที่ไม่มีศักยภาพรักษาแล้ว มักจะเสียสิทธิการเบิกจ่ายฉุกเฉินทันที ไม่สามารถเบิกจ่ายได้หากนำส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเอกชนที่รักษาได้

ขณะเดียวกันการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลรัฐด้วยกัน แม้ว่าหลายแห่งจะมีบริการใส่สายสวนหัวใจ แต่ติดปัญหาไม่เปิดฉุกเฉินนอกเวลาราชการ เนื่องจากขาดแคลนแพทย์ที่สวนหัวใจได้ ทั้งกระบวนการส่งต่อยังยุ่งยากมาก ส่งผลให้ผู้ป่วยเหล่านี้ขาดสิทธิพึงได้ในการเข้าถึงการรักษา โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้มีจำนวนไม่น้อย ต่างจากผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่สามารถส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลเอกชนได้

ขณะที่โรงพยาบาลบางพลีในช่วงหลังของการเปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ได้มีการขยายโรงพยาบาลเพื่อรองรับบริการเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จากโรงพยาบาล 60 เตียง เพิ่มเป็น 150 เตียง และ 200 เตียงในปัจจุบัน รวมทั้งได้รับการยกฐานะจากโรงพยาบาลชุมชนเป็นโรงพยาบาลทั่วไป แต่บุคลากรเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลยังขาดแคลนอยู่มาก เช่น มีพยาบาลวิชาชีพเพียงแค่ 80 กว่าคนเท่านั้น ทำให้ไม่เพียงพอต่อบริการ ซึ่งนอกจากการจ้างพยาบาลจากโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาอยู่เวรเพิ่มเติมแล้ว ยังใช้วิธีการจ้างเหมาบริการจากเอกชนเช่นกัน เช่น บริการฟอกไตผู้ป่วย การตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าว เป็นต้น จึงได้นำวิธีดังกล่าวมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้น

รูปแบบของความร่วมมือกับภาคเอกชนในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจนั้น นพ.นำพล อธิบายว่า ในช่วงแรกที่คิดไว้มี 2 รูปแบบด้วย คือการเปิดให้เอกชนดำเนินการให้บริการเอง โดยการเปิดพื้นที่โรงพยาบาลให้เช่า โดยวิธีนี้เอกชนจะต้องทำการเช่าพื้นที่กับกรมธนารักษ์โดยตรง เช่นเดียวกับร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่นที่เปิดในโรงพยาบาล ซึ่งอาจมีปัญหาทั้งการควบคุมและเบิกจ่ายได้ เพราะเป็นการดำเนินการโดยเอกชนเอง

ดังนั้นจึงมองไปยังวิธีการจ้างเหมาบริการจากเอกชนแทน เพราะการดำเนินการจะเป็นการทำในนามโรงพยาบาลทั้งหมด ขณะเดียวกันทราบว่า โรงพยาบาลของ อบจ.ภูเก็ตและเมืองพัทยา ได้มีการดำเนินการโดยใช้วิธีการจ้างเหมาโรงพยาบาลธนบุรีมาเป็นผู้ให้บริการทั้งหมด จึงได้ทำการศึกษาถึงความเป็นไปได้เพื่อนำมาใช้ในโรงพยาบาลรัฐ

ทั้งนี้การจ้างเหมาเอกชนเพื่อให้บริการผู้ป่วยโรคหัวใจนั้น ด้วยเหตุที่ทางเอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ทั้งอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ รวมถึงแพทย์และพยาบาล จึงต้องให้บริการผู้ป่วยให้ได้มากที่สุดเพื่อให้คุ้มทุนและมีกำไร ด้วยเหตุนี้จึงยินดีให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง ในการส่งหมอที่มีความเชี่ยวชาญด้านใส่สายสวนหัวใจมาประจำ สามารถให้บริการใส่สายสวนหัวใจได้ภายใน 90 นาที นับว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างมาก ประกอบกับความพร้อมของโรงพยาบาลบางพลีเอง ทั้งพื้นที่บริการที่เพิ่มขึ้นจากอาคารใหม่ที่จัดสร้างขึ้น ทำให้มีเตียงผู้ป่วยที่ยังว่างเพื่อรองรับ ซึ่งรวมถึงเตียงไอซียูและซีซียู ตลอดจนห้องผ่าตัด รวมไปถึงที่ตั้งของโรงพยาบาลที่ใกล้กับกรุงเทพฯ ทำให้หมอหัวใจเดินทางไปกลับได้สะดวก 

ดังนั้นจึงได้นำรูปแบบการบริการผู้ป่วยโรคหัวใจนี้ปรึกษากับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการซึ่งได้เห็นชอบในหลักการด้วย และให้ดำเนินการภายใต้งบประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งเป็นอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ในการอนุมัติ โดยได้มีการจัดทำทีโออาร์และประกาศ ซึ่งได้ศูนย์หัวใจโรงพยาบาลธนบุรีเป็นผู้ได้รับจ้างเหมา โดยโรงพยาบาลบางพลีจะทำหน้าที่เป็นผู้เบิกค่ารักษาจากกองทุนต่างๆ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด (ค่า RW) และส่งจ่ายให้กับเอกชนที่รับจ้างเหมาตามราคาที่ตกลงกันตามสัญญา ซึ่งศูนย์หัวใจโรงพยาบาลธนบุรีได้เริ่มให้บริการรักษาผู้ป่วยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558        

“หลังดำเนินการในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ได้ให้บริการใส่สายสวนหัวใจให้กับผู้ป่วยแล้ว 150 ราย ทำให้ผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดฉุกเฉินได้รับการใส่สายสวนหัวใจโดยทันที ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น และที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เข้าตรวจมาตรฐานการบริการรักษาผู้ป่วยหัวใจนี้แล้ว เหลือเพียงแต่การประชุมเพื่อรับรอง ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลรับรักษาผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ที่ผ่านมายังได้เรียนปรึกษากับโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อขอความร่วมมือให้ช่วยมาตรวจมาตรฐานการบริการผู้ป่วยโรคหัวใจของโรงพยาบาลด้วย” นพ.นำพล กล่าว

นพ.นำพล กล่าวต่อว่า ด้วยการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจที่เป็นการดำเนินการของโรงพยาบาลบางพลี ยังทำให้โรงพยาบาลสามารถควบคุมการใส่สายสวนหัวใจอย่างสมเหตุสมผล เนื่องจากผู้ป่วยที่เข้ารักษาต้องผ่านเข้ามาในระบบโรงพยาบาลบางพลีก่อน และได้รับการวินิจฉัยจากอายุรแพทย์ของโรงพยาบาล แล้วจึงส่งเข้ารักษายังศูนย์โรคหัวใจ ต่างจากการบริการทำในโรงพยาบาลเอกชนที่เมื่อโรงพยาบาลภาครัฐส่งเคสไปแล้ว จะตรวจสอบรายละเอียดของเคสได้ยากกว่า 

นอกจากนี้ยังลดความเสี่ยงเพราะในกรณีโรงพยาบาลดำเนินการเอง โดยจัดซื้อเครื่องมือแพทย์และจ้างหมอหัวใจทำเอง หากหมอลาออกไป การลงทุนนับ 10 ล้านบาทกับเครื่องมือแพทย์เท่ากับสูญเปล่า หรือผู้ป่วยน้อยก็อาจจะไม่คุ้มค่า ต่างจากกรณีจ้างเหมาที่เอกชนจะเป็นผู้รับความเสี่ยงแทน โดยโรงพยาบาลบางพลีเองไม่ขาดทุนหรือเสียประโยชน์อะไร ขณะที่ผู้ป่วยเองยังได้รับบริการอย่างทั่วถึง

“การเปิดศูนย์หัวใจโดยการจ้างเหมาเอกชน โรงพยาบาลบาลพลีถือเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินการในรูปแบบนี้ ด้วยปัจจัยความพร้อมด้านพื้นที่รองรับ สถานที่ตั้งใกล้ กทม. และงบประมาณที่เพียงพอ ทั้งจากงบบัตรทองจากค่ารายหัวประชากร แรงงานต่างด้าวและผู้ป่วยที่จ่ายเงินเอง โดยได้ดำเนินการผ่าน นพ.สสจ. ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ และรายงานไปยังกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตามมองว่าการบริหารจัดการในรูปแบบนี้ยังนำไปใช้ในการบริการผู้ป่วยอื่นๆ ได้อีกมาก ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ว่าจะมองไปไกลแค่ไหน และจะนำไปปรับใช้อย่างไร” นพ.นำพล กล่าว

ด้าน นพ.สวัสดิ์ อภิวัจนีวงศ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ได้รับทราบการดำเนินการในเรื่องนี้ของโรงพยาบาลบางพลีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่ม โดยเฉพาะในกลุ่มข้าราชการที่มีข้อจำกัดการส่งต่อ ดังนั้นจึงนับเป็นรูปแบบการจัดบริการที่ดี และหน่วยบริการต่างๆ น่าจะนำไปปรับใช้ได้ ซึ่งต้องบอกว่าการที่โรงพยาบาลรัฐดึงเอกชนเข้าร่วมจัดบริการนับเป็นการบริหารรูปแบบใหม่ แต่ทั้งนี้หลังจากดำเนินโครงการแล้วคงต้องมีการประเมินต่อไป โดยเฉพาะผลในระยะยาวถึงข้อดีและจุดบกพร่องเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงต่อไป 

นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการบริหารจัดการโรงพยาบาลภาครัฐ ภายใต้การบริหารงานรูปแบบใหม่ บนความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการดูแลผู้ป่วยให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง