ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เร่งรณรงค์ค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่นำมารักษาก่อนเกิดความพิการ เผยการกำจัดโรคเรื้อนของไทยประสบความสำเร็จ ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกว่ามีประสิทธิภาพ ผ่านเกณฑ์ไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขตั้งแต่ปี 37 ผู้ป่วยรายใหม่ลดลงตามลำดับ แต่สถานการณ์ใหม่ที่น่าเป็นห่วง คือ พบผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ที่เป็นชาวต่างชาติเพิ่มจึ้นตั้งแต่ปี 54 วาง 3 มาตรการเข้มข้น เฝ้าระวังป้องกันโรคเรื้อน ค้นหาผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยที่ตกค้างในชุมชนที่ไม่รู้ว่าป่วย และผู้ป่วยต่างชาติ

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2559 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายประกิจ กิจวิทย์ ผู้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมแถลงข่าว “การรณรงค์ค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติ 70 ปีแห่งการครองราชย์”  

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับโครงการพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ในปี2559นี้ ได้จัดทำโครงการ “รณรงค์ค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อน” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติ 70 ปีแห่งการครองราชย์ สนองพระราชปณิธานในการกำจัดโรคเรื้อนให้หมดไปจากประเทศไทย โดยเร่งรัดค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ให้มารับการรักษาก่อนเกิดความพิการ ตั้งเป้าลดผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 100 คน และผู้ป่วยใหม่มีความพิการไม่เกิน 20 คนในปี 2563 

โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับโครงการควบคุมโรคเรื้อนของประเทศไทย เป็นโครงการในพระราชดำริตั้งแต่ พ.ศ.2501 และทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อตั้งสถาบันราชประชาสมาสัย ทำหน้าที่ค้นคว้า วิจัย รักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยโรคเรื้อน 

รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า ขณะนี้การกำจัดโรคเรื้อนของประเทศไทยประสบความสำเร็จ ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกว่ามีประสิทธิภาพ ผ่านเกณฑ์ที่ไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขตั้งแต่ปี 2537 จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ลดลงเป็นลำดับ ข้อมูลปี 2557 พบผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ 208 คน ในจำนวนนี้ 31 คน มีความพิการที่มองเห็นได้ชัด เนื่องจากเข้ารับการรักษาที่ล่าช้า คาดว่ายังคงมีผู้ป่วยที่ตกค้างในชุมชนโดยไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคเรื้อนจำนวนหนึ่ง และที่น่าเป็นห่วงคือตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันมีแนวโน้มพบผู้ป่วยรายใหม่ที่เป็นชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น ซึ่งการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้มีนโยบายเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคเรื้อนในประชากรต่างชาติอย่างเข้มข้น ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนค้นหาผู้ป่วยรายใหม่มารับการรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันความพิการ และตัดการแพร่เชื้อในชุมชน

ด้าน นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้เพิ่มมาตรการเข้มข้นเพื่อดำเนินงานกำจัดโรคเรื้อนดังนี้

1.เร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่เป้าหมายตามข้อบ่งชี้ทางระบาดวิทยา จำนวน 66 อำเภอ ใน 35 จังหวัด โดย สปสช.ได้สนับสนุนงบประมาณในการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกโดยการสำรวจหมู่บ้านแบบเร็ว หมู่บ้านละ 10,000 บาท และสนับสนุนการค้นหาผู้ป่วยจากการตรวจผู้สัมผัสโรคร่วมบ้าน 100 บาทต่อหลังคาเรือน มูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ช่วยสนับสนุนค่าพาหนะเดินทางแก่ผู้ป่วยรายใหม่ที่มารับการรักษาด้วยตนเอง รายละ 2,000 บาท แต่กรณีอาสาสมัครหรือประชาชนที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้พามารักษา จะได้รับสนับสนุน 1,000 บาท ผู้ป่วยได้รับ 1,000 บาท

2.เร่งรัดการดำเนินการเฝ้าระวังโรคเรื้อนในกลุ่มประชากรต่างชาติ โดยการตรวจสุขภาพก่อนออกใบอนุญาตทำงาน การอบรมให้ความรู้แก่แพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและคลินิกเอกชน ใช้ต้นแบบระบบเฝ้าระวังในประชากรต่างชาติพื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก และจัดทำแบบคัดกรองโรคเรื้อนด้วยตนเอง 5 ภาษาขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือให้กับโรงพยาบาลและสถานประกอบการ มีไว้คัดกรองประชากรต่างชาติเพื่อลดปัญหาการสื่อสาร ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคเรื้อนที่เป็นประชากรต่างชาติจะได้รับยารักษาโรคเรื้อนฟรี แต่จะไม่ได้รับค่าตอบแทน

3.การพัฒนาสถานบริการเชี่ยวชาญโรคเรื้อน ให้บริการได้ครบวงจรกระจายอยู่ในภาคต่างๆ จำนวน 20 แห่งครอบคลุมเขตบริการสุขภาพทุกแห่ง และสนับสนุนให้ใช้สังคมออนไลน์ (social network) สื่อสารระหว่าง ผู้รับผิดชอบงานโรคเรื้อน ทั้งแพทย์ พยาบาล นักวิชาการและบุคลากรวิชาชีพต่างๆ ของสถาบันราชประชาสมาสัย สำนักงานป้องกันควบคุมโรค และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ให้คำปรึกษา ลดความล่าช้าในการวินิจฉัยโรคเรื้อน ให้ข้อแนะนำในการรักษา การป้องกันความพิการ และการฟื้นฟูสภาพ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับอาการเริ่มแรกของโรคเรื้อนมีดังนี้ มักมีวงด่างสีขาวหรือสีแดง ในวงด่างจะแห้ง เหงื่อไม่ออกและชา หยิกไม่เจ็บ หรือมีผื่นแดง ผื่นวงแหวน ตุ่มแดง ไม่คัน จึงขอให้ประชาชนหมั่นสำรวจร่างกายตนเองและบุคคลในครอบครัว หากพบมีอาการดังกล่าวข้างต้น หรือสงสัยเป็นโรคเรื้อนให้รีบปรึกษาแพทย์ใกล้บ้าน โดยปัจจุบันมียาที่มีประสิทธิภาพสามารถรักษาโรคเรื้อนให้หายขาดได้ ซึ่งผู้ป่วยจะหยุดแพร่เชื้อเมื่อเริ่มกินยาและสามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวได้ตามปกติ

นายประกิจ กิจวิทย์ ผู้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้กล่าวถึงการเผชิญปัญหาชีวิตจากโรคเรื้อนที่มีความพิการในอดีตที่ผ่านมาด้วยความทุกข์ทรมาน แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการต่อสู้กับปัญหา พัฒนาตนเองจนสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูครอบครัว และดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีเฉกเช่นปุถุชนทั่วไป ขอเพียงสังคมได้ให้โอกาสและสนับสนุนผู้ประสบปัญหาจากโรคเรื้อนด้วย