ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่ง “ล้างบาง” คณะกรรมการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (บอร์ด สสส.) ที่มีความใกล้ชิดกับเครือข่ายภาคประชาชน (เอ็นจีโอ) จำนวน 7 ราย ชื่อของ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธานสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ถูกพูดถึงไม่น้อยไปกว่า นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส

ว่ากันตามตรง นพ.พลเดช คือ “มือประสาน 10 ทิศ” ของเครือข่ายตระกูล ส. ในระหว่างที่รัฐบาลทหารเรืองอำนาจ อาจพูดได้ว่า นพ.พลเดช คือผู้ที่ออกหน้าทำงานแทน นพ.ประเวศ

การประชุมคณะทำงานร่วม รัฐเอกชน-ประชาชน (ประชารัฐ) เมื่อเร็วๆ นี้

นพ.พลเดช อดีต รมช.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในยุครัฐบาลขิงแก่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. แต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

นพ.พลเดช คนเดียวกันนี้ ยังมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และอยู่เบื้องหลังนโยบาย “ประชารัฐ” ที่ดึงภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม

ภาพ นพ.ประเวศ นั่งเคียงคู่กับ นายสมคิด ในงานสานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ก.ย.2558 ที่อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี จึงไม่ได้เกินความคาดหมายของใครเท่าใดนัก

อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดบอร์ด สสส.สัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ 7 ราย สถานการณ์ ตระกูล ส.เริ่มฝุ่นตลบ และ นพ.พลเดช ตกเป็นเป้าที่ถูกจับตามอง

ท่ามกลางศึกสงครามที่ไม่รู้มิตรไม่รู้ศัตรู นพ.พลเดช คือบุคคลลำดับต้นๆ ในเครือข่าย นพ.ประเวศ ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลมากที่สุด และท่วงทำนองของ นพ.พลเดช ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อในช่วงวิกฤตตระกูล ส.ก็ยังเป็นไปอย่างละมุนละม่อม

บทบาทที่ นพ.พลเดช เล่นคือ “คนกลาง” ระหว่างรัฐบาล กับภาคประชาสังคม

จึงไม่แปลกที่ ภาคีเครือข่ายเริ่มเกิดความหวาดระแวง

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ตัวแทนกลุ่มศึกษาข้อตกลงการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอวอชท์) กล่าวในที่ประชุมว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ซึ่งหัวหน้าคณะทำงานชุดนี้ก็มีกลุ่มบริษัททุนเหล้ายักษ์ใหญ่ร่วมอยู่ด้วย โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการดูดเงินจากกองทุน สสส.ไปอยู่ในโครงการประชารัฐ ทั้งที่ไม่เคยเห็นหัวว่ามีประชาชนอยู่ในนั้นหรือไม่

เป็นเสียงสะท้อนจากภาคีเครือข่ายส่วนหนึ่ง ในที่ประชุมกำหนดท่าทีของขบวนการส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.) เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2559 ซึ่ง นพ.ประเวศ ก็นั่งอยู่ด้วย

มากไปกว่านั้น ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์จากภาคีเครือข่ายวงนอกที่ค่อนข้างรุนแรงประหนึ่งว่า “เขาไปจากพวกเราแล้ว”

ขณะที่ นพ.พลเดช ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมเดียวกันนี้ว่า ได้หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงการใช้งบประมาณ สสส.สนับสนุนโครงการประชารัฐของรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งก็พบว่าโครงการประชารัฐเป็นไปตามวัตถุประสงค์ 6 ข้อของ สสส.ทุกอย่าง

“ผมว่างบประมาณส่วนหนึ่งของ สสส.ที่จะนำมาใช้ในโครงการประชารัฐไม่ได้ขัดแย้งกัน เพราะก็ไปดำเนินการกับชุมชนเหมือนกัน คนรับไม่ได้เป็นตัวบริษัทเหล้าหรือบุหรี่ แต่เป็นกลุ่มชุมชนทั้งหมด”นพ.พลเดช ระบุ

การตัดสินใจเข้าร่วมประชุมนโยบายประชารัฐ เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมาของ นพ.พลเดช สร้างความไม่พึงพอใจให้ “ผู้ใหญ่” ที่มีอิทธิพลอยู่ในตระกูล ส.หลายคน เนื่องจาก นพ.พลเดช ไม่ได้มาปรึกษา แต่กลับตัดสินใจเอาตัวเข้าไปร่วมอย่างผลีผลาม

มากไปกว่านั้นก็คือ การประชุมประชารัฐเกิดขึ้นหลัง คสช.มีคำสั่งปลดฟ้าผ่าบอร์ด สสส.เพียง 1 วัน

สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้ คือการแต่งตั้ง เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งจะมีขึ้นภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ โดย นพ.พลเดช เป็นเต็ง 1 ที่จะคว้าเก้าอี้

กลไกการทำงานของ สช.มีพื้นฐานมาจากภาคีเครือข่ายภาคประชาชน และความสำเร็จของ สช.ที่ฉายผ่านสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในแต่ละประเด็น ล้วนแล้วแต่ถูกขับเคลื่อนโดยภาคีเครือข่ายทั้งสิ้น

ขณะที่ความหวาดระแวงกำลังขยายตัว เส้นทางของ นพ.พลเดช ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอีกต่อไป.