ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายคนทำงานปฐมภูมิ สธ.เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกฯ 29 ม.ค.นี้ จี้ ยกระดับ รพ.สต.กว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ ให้ถูกกฎหมาย ค้านโครงสร้าง รพ.สต.ใหม่ ที่ผ่านมติ อ.ก.พ.สป.สธ.พร้อมเสนอโครงสร้างใหม่ที่สอดคล้องภาระงานที่แท้จริง

12 ม.ค.59 นางทัศนีย์ บัวคำ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมไทย (สคสท.) กล่าวว่า ขณะนี้ ชมรม ผอ.รพ.สต. (ประเทศไทย) ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) และ สคสท.ได้เชิญชวนทุกชมรม สมาคม องค์กร มาร่วมทวงคืนศักดิ์ศรีและความเป็นธรรมให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และนักสาธารณสุข ในวันที่ 29 มกราคม 2559 โดยมีเป้าหมายหลัก คือ

1. ยกระดับ รพ.สต.และสถานบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ 10,147 แห่ง ให้มีมาตรฐานและมีกฎหมายรองรับอย่างถูกต้อง

2. ไม่เห็นด้วยกับร่างโครงสร้าง รพ.สต.ที่ผ่านมติ อ.ก.พ.สป.สธ. และเสนอร่างโครงสร้าง รพ.สต.ใหม่ ที่สนองตอบต่อประชาชนในชุมชนอย่างแท้จริง

นางทัศนีย์ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการเชิงรุก นั้น ในวันที่  29 มกราคม 2559 เวลา 09.00 น. ทุกชมรมจะยื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรม ต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้รัฐบาลกำหนดให้ รพ.สต.และสถานบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิทั่วประเทศ 10,147 แห่ง ได้รับการยกระดับมาตรฐานและเป็นหน่วยงานที่ถูกต้องมีกฎหมายรองรับ เพราะจะส่งผลต่อการจัดสรรทรัพยากร คน เงิน ของ ที่จะลงไปยังหน่วยงานในพื้นที่ตำบลและหมู่บ้าน และคัดค้านร่างโครงสร้าง รพ.สต.  ที่ผ่าน อ.ก.พ.สป.สธ  พร้อมนำเสนอร่างโครงสร้าง รพ.สต.ใหม่ ที่เข้าถึงประชาชนและตอบสนองความต้องการของประชาชนในสังคมชุมชนอย่างแท้จริง

โดยโครงสร้างใหม่นั้น จะครอบคลุมภาระงาน เกณฑ์จำนวนประชากร ที่เป็นไปตามมาตรฐานของค่างาน (FTE) และมาตรฐานกำหนดตำแหน่งใหม่ของนักสาธารณสุขวิชาชีพ โดยจัดสรรอัตรากำลังคนด้านสุขภาพทุกสายงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ พร้อมปรับเปลี่ยนชื่อเรียกเดิม "หัวหน้าสถานีอนามัย" เป็น "ผู้อำนวยการ รพ.สต.” (นักสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ/เชี่ยวชาญ) หรืออาจเรียกชื่อเป็นอย่างอื่นตามความเหมาะสม ดังเช่น กรณีเทียบเคียงกับหน่วยงานขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เรียกว่า "นักบริหารงานสาธารณสุข" เป็นต้น

นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรม ผอ.รพ.สต. (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบัน รพ.สต.ไม่ถูกระบุในกฏกระทรวง ทำให้หัวหน้าสถานีอนามัย หรือที่ปัจจุบันเรียก ผอ.รพ.สต. ทำงานในหน่วยงานเถื่อน ไม่มีกฏหมายรองรับ และแม้ว่าหัวหน้าสถานีอนามัยเดิมในหลักเกณฑ์หนังสือ ก.พ.ว 150 และ ว2/58 ชื่อเรียกหัวหน้า สอ./ผอ.รพ.สต.สามารถเลื่อนระดับไปชำนาญการพิเศษได้ทุกคนเมื่อมีคนครบตามเกณฑ์ แต่พบว่า กลับไม่มีความคืบหน้า กำหนดแค่จังหวัดละคน ทั้งที่มี รพ.สต.หมื่นกว่าแห่ง และยังดำเนินการได้แค่บางจังหวัด ทั้งยังไม่สามารถดำเนินการเลื่อนระดับได้ในทุกอำเภอ ตามที่มีหลักเกณฑ์ไว้

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้โครงสร้างและกรอบอัตรากำลัง ที่ผ่าน อ.ก.พ.สป.สธ. เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2558 ที่ผ่านมานั้น ไม่สอดคล้องความเป็นจริง ชมรม ผอ.รพ.สต.(ประเทศไทย) จึงต้องการเสนอปรับโครงสร้างอัตรากำลังในกลุ่มงาน ให้มีอัตรากำลังรองรับโอกาสความก้าวหน้าของสายงานปฏิบัติที่เป็นหัวหน้ากลุ่มงาน (ที่ไม่ใช่ ผอ.รพ.สต.) สามารถก้าวหน้าไปได้ในหลักการที่ระดับชำนาญการพิเศษภายใต้กฎกติกาปัจจุบันของ ก.พ. ว2/58 ได้ด้วยเช่นกัน

อีกทั้งต้องการสร้างโอกาสให้น้องๆ สายทั่วไป ตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุข (จพ.) ได้มีโอกาสก้าวหน้าในตำแหน่งนักวิชาการ สธ. โดยใช้หลักเกณฑ์ประชากรพื้นที่พิเศษ/พื้นที่เฉพาะ ภาระงาน มาเป็นเกณฑ์ในการเข้าสู่สายงานวิชาการ ทัดเทียมวิชาชีพอื่นๆ ด้วย

“ชมรม ผอ.รพ.สต.(ประเทศไทย) กำลังเสนอโครงสร้างที่สอดคล้องกับกรอบอัตรากำลัง ภาระงาน เพื่อให้สายปฏิบัติโตได้ด้วย ไม่เช่นนั้น โครงสร้างที่ผ่าน อ.ก.พ.สป.สธ.รอบนี้ จะถือว่าทำออกมาเสียของได้” นายสมศักดิ์ กล่าว  

นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) กล่าวว่า นอกจากนี้นักสาธารณสุขทั่วประเทศ จะร่วมกับแกนนำเครือข่ายข้าราชการพลเรือนไทยที่มีสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทยนำทีม และสมาชิกใหม่ของเครือข่าย อย่างข้าราชการกรมราชทัณฑ์ รวมทั้งภาคประชาชนอย่างเครือข่ายพสกนิกรไทย รวมใจสามัคคี จะร่วมติดตามทวงถามความคืบหน้าเรื่อง "ความเหลื่อมล้ำอัตราขั้นต่ำขั้นสูงของเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนทั่วประเทศ" ที่ยื่นไว้เมื่อ 18 ธันวาคม 2558 ครบ 30 วัน แล้ว ณ ทำเนียบรัฐบาล ให้เลื่อนไหลเหมือนครู เทียบเท่าข้าราชการอื่นๆ ในชั้นยศเดียวกัน

เนื่องจากการขับเคลื่อนที่ผ่านมาแม้จะเสียงตอบรับจากกรมบัญชีกลางและสำนักงบประมาณ แต่กลับไปตีความเป็นเรื่องเงินเดือนผู้บริหารระดับสูงเทียบกับเอกชนแทน นักสาธารณสุขประกอบด้วยหมออนามัย ใน รพ.สต./สสช/ศสม. หมื่นกว่าแห่ง เจ้าพนักงาน (จพ.) และนักวิชาการสาธารณสุข (นวก.สธ.) ในสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) โรงพยาบาลที่มีใน 888 อำเภอ และในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทั้ง77 จังหวัด รวมทั้งในสังกัดอื่นๆ ทั่วประเทศ ขณะนี้กำลังรวมตัวมาร่วมทวงคืนศักดิ์ศรี รพ.สต. ทวงคืนศักดิ์ศรีนักสาธารณสุข เพื่อให้บุคลากรสายงานนักสาธารณสุขและหมออนามัย มีที่ยืนทำงานในหน่วยงานที่ถูกกฏหมาย และมีโอกาสได้รับความเจริญก้าวหน้า ทัดเทียมทุกวิชาชีพ

ซึ่งขณะนี้ชมรมผอ.รพ.สต.แต่ละจังหวัดทั่วประเทศ กำลังรวบรวมรายชื่อและพร้อมรวมตัวในวันที่ 29 ม.ค. 59 สำหรับนักสาธารณสุข ชมรมองค์กรต่างๆ และข้าราชการพลเรือนอื่นๆ ที่สนใจเข้าร่วมขับเคลื่อนเพิ่มเติม ติดต่อที่ นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชากาสาธารณสุข (ประเทศไทย) อีเมล์ :rizkee.sr@gmail.com