ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติ ครม.เห็นชอบแผนยกระดับความมั่นคงและความเป็นเลิศด้านคุมโรคของประเทศปี 60-64 สำหรับใช้เป็นกรอบลงทุนและดำเนินงาน 5 ปี เพื่อการขับเคลื่อน มอบ กระทรวงการคลังและสำนักงบฯ พิจารณาจัดหาแหล่งทุนสำหรับโครงการลงทุน ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบงาน และศักยภาพของเจ้าหน้าที่ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วันที่ 12 มกราคม 2559 มีมติเห็นชอบแผนยกระดับความมั่นคงและความเป็นเลิศด้านควบคุมโรคของประเทศ พ.ศ. 2560 – 2564 สำหรับใช้เป็นกรอบการลงทุนและการดำเนินงานในระยะ 5 ปี เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนโครงการไปสู่การปฏิบัติ ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการลงทุนภายใต้แผนยกระดับความมั่นคงและความเป็นเลิศด้านควบคุมโรคของประเทศ พ.ศ. 2560 – 2564 ตามความเหมาะสม

สาระสำคัญของเรื่อง สธ. รายงานว่า

1. สถานการณ์ปัจจุบันของระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพของประเทศยังไม่สมบูรณ์ ข้อมูลที่ได้จากระบบเฝ้าระวังโรคจากแต่ละหน่วยงานมีความซ้ำซ้อน กระจัดกระจาย และไม่สามารถรวบรมเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการใช้ตัดสินใจเชิงนโยบาย การติดตามประเมินผล และการปฏิบัติการอื่นๆ

ซึ่งในกรณีเมื่อเหตุการณ์ระบาดของโรคหรือภัยสุขภาพที่มีความสำคัญเกิดขึ้น ส่วนศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operations Center : EOC) ที่เป็นกลไกสำคัญของการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน โดยมีการเชื่อมโยงรายละเอียดของเหตุการณ์นั้นๆ ทั้งข้อมูลที่มีการจัดเก็บจากภาคสนามและข้อมูลของผู้ป่วยแต่ละรายที่ถูกเชื่อมโยงเข้าสู่ EOC ในปัจจุบัน ยังขาดระบบการวิเคราะห์สถานการณ์ที่เป็น Real time ไม่สามารถแจ้งเตือนได้ทันท่วงทีและยังขาดระบบข้อมูลสนับสนุนเพื่อการตัดสินใจและสั่งการได้ทันสถานการณ์

จึงจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบงาน และศักยภาพของเจ้าหน้าที่ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งปัจจุบันระบบการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคที่ด่านช่องทางเข้าออกประเทศ (point of entry) ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำตามกรอบกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulations : IHR) จำนวน 17 แห่ง จาก 67 แห่ง อีกทั้งยังขาดระบบการบริหารจัดการและการประเมินอย่างเป็นระบบตามกรอบกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR)ขาดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นๆ และการพัฒนาสมรรถนะ ทั้งในยามปกติและการรับมือภาวะฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดน

นอกจากนี้ ประชากรข้ามชาติ/แรงงานต่างด้าว (Migrant) จำนวนมาก เข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ฐานข้อมูลไม่เป็นปัจจุบันและขาดการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการเฝ้าระวังโรคกับหน่วยงานเครือข่าย

ดังนั้น เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความท้าทายดังกล่าว จึงต้องมีการพัฒนาและยกระดับประสิทธิภาพระบบป้องกันควบคุมโรคของประเทศ ควบคู่กับแผนพัฒนาความเข้มแข็ง แผนงานควบคุมโรค (Revitalizing Disease Control Program : RDCP)

2. แผนยกระดับความมั่นคงและความเป็นเลิศด้านควบคุมโรคของประเทศ พ.ศ. 2560 – 2564 มุ่งเน้นให้เกิดระบบป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพของประเทศที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน ประกอบด้วย

1) แผนงานพัฒนาระบบควบคุมโรคเพื่อความมั่นคงของประเทศ (Disease Control System for National Security)

2) แผนงานพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศด้านป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ (Excellence Center for Disease Control)

3) แผนงานสนับสนุนการพัฒนาระบบป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพของประเทศ