ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.โพสต์ทูเดย์ : การเปิดเสรีภาคบริการของอาเซียน รวมถึงนโยบายการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของประเทศ โดยเฉพาะด้านบุคลากรที่มีแนวโน้มขาดแคลน และจะมีการแข่งขันแย่งชิงบุคลากรกันมากขึ้น ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งเตรียมพร้อมด้านนี้อย่างเข้มข้น

พัชราวลัย วงศ์สินบุญ ศูนย์ศึกษาการพัฒนามนุษย์และย้ายถิ่น วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการวิจัยถึงโอกาสและความท้าทายของการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพพยาบาลในประชาคมอาเซียน พบว่า ตลาดแรงงานอาเซียนมีความต้องการแรงงานวิชาชีพพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป ชาติอาเซียนมีแนวโน้มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นความท้าทายในการพัฒนาบุคลากรวิชาชีพพยาบาลรุ่นใหม่ๆ เข้ามารองรับ

"ที่ผ่านมา แม้ว่าไทยจะเร่งเพิ่มกำลังการผลิตบุคลากรทางด้านการแพทย์และวิชาชีพพยาบาลให้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เพราะในแต่ละปีจะมีผู้ที่อยู่ในอาชีพนี้เลิกประกอบวิชาชีพเช่นกัน อีกทั้งแพทย์และพยาบาลยังเป็นวิชาชีพที่ต้องใช้เวลาในการผลิต ส่งผลให้ตอนนี้ไทยยังต้องเน้นผลิตเพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศเป็นหลักก่อน"

ทั้งนี้ การเคลื่อนย้ายแรงงานในกลุ่มวิชาชีพทางการแพทย์และพยาบาลระหว่างไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นยังมีข้อจำกัด และการกีดกันภายในประเทศ อีกทั้งยังมีอุปสรรคด้านภาษาและข้อตกลงสัญญาว่าจ้างในประเทศปลายทางด้วย

สำหรับพยาบาลชาวไทยนั้น พบว่า การโยกย้ายถิ่นของพยาบาลวิชาชีพเพื่อไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านยังไม่ใช่กระแสหลัก หรือยังไม่เห็นชัดเจน โดยมีเหตุผลหลักๆ คือ พยาบาลชาวไทยส่วนใหญ่มักจะรู้สึกว่าไม่อยากย้ายไปไหน ทำงานในเมืองไทยสบายดีอยู่แล้ว หรือบ้างก็เป็นห่วงครอบครัว ตลอดจนยังมีข้อจำกัดด้านความรู้ความสามารถด้านภาษาเมื่อเทียบกับพยาบาลจากประเทศอื่นในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

ด้าน ยุพิน อังสุโรจน์ อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พยาบาลวิชาชีพมีปัญหาขาดแคลนมาตลอด โดยสถานการณ์ตลาดพยาบาลวิชาชีพพยาบาลในอาเซียน พบว่า ไทยมีสัดส่วนพยาบาล 2.07 คน/ประชากร 1,000 คน ซึ่งใกล้เคียงกับเกณฑ์ขั้นต่ำที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดไว้ที่ 2 คน/ประชากร 1,000 คน

ที่ผ่านมา สถาบันการศึกษาไทยได้เร่งผลิตพยาบาลมากขึ้นจากเดิมที่วางไว้ปีละ 8,000 คน เป็น 1 หมื่นคน/ปี แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันมีการเคลื่อนย้ายแรงงานออกจากวิชาชีพเร็วขึ้น ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ปี จากเดิมเฉลี่ย 5-10 ปี

ขณะเดียวกัน ยังต้องเตรียมสร้างอาจารย์พยาบาลเพื่อทดแทนอาจารย์ที่จะเกษียณจำนวน 830 คน ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยส่วนใหญ่จะมีปัญหาขาดแคลนพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐมากกว่าเอกชน เนื่องจากมีผลตอบแทนต่ำกว่า แต่มีภาระงานมากกว่า

อย่างไรก็ดี โอกาสของพยาบาลไทยหลังเปิดเสรีอาเซียนมีแนวโน้มสดใส และเป็นที่ต้องการของตลาด อันเป็นผลจากการขยายการลงทุนของสถานบริการสุขภาพนานาชาติ ทั้งที่เป็นทุนในประเทศและทุนต่างชาติ แม้จะมีพยาบาลต่างชาติเข้ามาทำงานในโรงพยาบาลไทย แต่ก็ทำงานด้านบริการอื่นๆ เท่านั้น เช่น ล่าม ผู้ประสานงาน ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเสมียน และพร้อมจะย้ายงานทันทีเมื่อที่ใหม่เสนอผลตอบแทนที่สูงกว่า ดังนั้นปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านนี้ยังเป็นความท้าทายสำคัญที่จะต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะเมื่อไทยต้องการเป็นฮับสุขภาพและสังคมไทยกำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 12 มกราคม 2559

เรื่องที่เกี่ยวข้อง