ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : "อาชีพแพทย์" (Medical Practitioners) ถือเป็น 1 ใน 7 อาชีพที่จะได้รับประโยชน์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เต็มรูปแบบในวันที่ 1 ม.ค.2559 นอกเหนือจากอีก 6 อาชีพ คือ วิศวกร พยาบาล สถาปนิก การสำรวจ นักบัญชี และทันตแพทย์

หลัง 10 ประเทศอาเซียน ได้จัดทำข้อตกลงยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangements หรือ MRAs) ด้านคุณสมบัติในสาขาวิชาชีพหลัก เพื่ออำนวยความสะดวกในการ "เคลื่อนย้ายนักวิชาชีพหรือแรงงานอย่างเสรี" โดยก่อนหน้านี้ โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง ยังได้ขยายเครือข่ายออกไปสู่ต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และพม่า) ทั้งในรูปแบบ เปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่ หรือการรับบริหารโรงพยาบาล นำทีมโดย บมจ.กรงเทพดุสิตเวชการ หรือ BGH เจ้าของโรงพยาบาลกรุงเทพ และโรงพยาบาลในเครือพญาไท และเปาโลเมโมเรียล ซึ่งหลายปีก่อน BGH ได้เปิดโรงพยาบาลในกัมพูชา ภายใต้ชื่อ "รอยัลพนมเปญ" เป็นต้น

ทว่า การเปิดเออีซีอย่างเป็นทางการ ทำให้หลายคนวิตกว่า "สมองหมอไทยอาจไหลออกไปสู่นอกบ้านมากขึ้น" ซ้ำเติมการขาดแคลนแพทย์ไทย ขณะเดียวกัน อาจเป็นการเปิดทางให้แพทย์ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอจากบางประเทศ เข้ามาปักหลักทำงานในเมืองไทย

ในเรื่องนี้ "นายแพทย์รัชต์ชยุตม์ จีระพรประภา" แพทย์ประจำบ้านเฉพาะทางกระดูก โรงพยาบาลศิริราช แสดงความเห็นว่า แม้อาชีพหมอจะได้ประโยชน์จากการเปิดเออีซี แต่ใช่ว่าหมอทุกคนจะสามารถออกไปทำงานต่างประเทศได้ง่ายๆ

เพราะบางประเทศยังมีข้อกำหนดที่ว่า ต้องสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือใบประกอบโรคศิลป์ ให้ผ่านก่อน ซึ่งข้อสอบในหลายๆ ประเทศค่อนข้างยาก เช่น ประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย เป็นต้น

"เปิดเออีซีไม่ได้ทำให้วงการหมอครื้นเครงเป็นพิเศษ ทุกอย่างยังเหมือนเดิม" ฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่า สมองหมอไทยจะไหลออกนอกบ้านหมด เพราะส่วนใหญ่ อยากทำงานในเมืองไทยมากกว่า อย่างน้อยอาชีพแพทย์ในเมืองไทยได้รับการยกย่องมากกว่าบางประเทศ

ขณะเดียวกัน การทำงานในเมืองไทย ซึ่งเป็นเมืองร้อน ทำให้หมอไทยคุ้นเคยกับโรคเมืองร้อน แต่เมื่อต้องไปทำงานในต่างประเทศ บางโรคหมอไทยอาจไม่เชี่ยวชาญ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลจากการเปิดเออีซีของวงการแพทย์ไทย คือ การเข้ามาทำงานของแพทย์ที่ไม่มีความชำนาญจากบางประเทศ

"อยากให้ทางการใช้โอกาสการเปิดเออีซี สนับสนุนทุนการศึกษาแพทย์ต่อไป ที่ผ่านมาคนไข้ต่างแดนนิยมมารักษาตัวในเมืองไทย เพราะเชื่อในฝีมือ และค่ารักษายังถูก"

ปัจจุบันวงการแพทย์ยังขาดแคลนบุคลากรอย่างมาก แม้ที่ผ่านมาจะมีนักศึกษาแพทย์เพิ่มขึ้นทุกปี แต่เมื่อเรียนจบส่วนใหญ่มักออกไปประกอบอาชีพแพทย์ความงาม

"นพ.สุรเชิด ต่างวิวัฒน์" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เฉพาะทางผิวหนัง (Dermatologist) พรเกษมคลินิก กล่าวในทำนองเดียวกันว่า การเปิดเออีซีไม่ได้มีผลให้แพทย์ไทยหันไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น เพราะบางประเทศยังต้องสอบใบประกอบโรคศิลป์ ยกเว้นกัมพูชา ลาว  และเมียนมา เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านั้นชื่นชอบหมอไทยมากๆ แต่แม้จะไม่ต้องสอบ ใบประกอบโรคศิลป์ แพทย์ไทยส่วนใหญ่ยังนิยมทำงานในบ้านเกิดมากกว่า

"ไม่ต้องกลัวว่า แพทย์ต่างแดนจะมาแย่งงานแพทย์ไทย เพราะแพทย์ไทย ในหลากหลายแขนงค่อนข้างเก่ง เห็นได้จากการที่คนไข้ต่างประเทศนิยมบินมารักษาตัวในเมืองไทย โดยเฉพาะด้านความงาม นับวันยิ่งเพิ่มขึ้น"

ผู้เขียน : ชาลินี กุลแพทย์ chalinee_koo@nationgroup.com

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 7 มกราคม 2559

เรื่องที่เกี่ยวข้อง