ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัญหาน้ำนมไหลน้อยหรือไม่ไหลมักจะเกิดกับแม่หลังคลอดลูก ซึ่งได้สร้างความวิตกกังวลให้กับแม่หลังคลอด บางรายถึงกับถอดใจไม่ยอมเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ไปเลยก็มี กลุ่มงานพยาบาล โรงพยาบาลสุโขทัย จึงได้คิดค้นนวัตกรรมท่อน้ำนมเทียมขึ้นมา และได้นำมาจัดแสดงในงานประชุมวิชาการสาธารณสุข ประจำปี 2558

นส.เพ็ญนิภา อย่างรัตนโชติ

นส.เพ็ญนิภา อย่างรัตนโชติ พยาบาลวิชาชีพ กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลสุโขทัย กล่าวว่า จากการทำงานพบว่า ปัญหาน้ำนมไม่ไหล หรือไหลน้อยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า และได้สร้างความวิตกกังวลให้แม่หลังคลอด เนื่องจากแม่จะมีความกลัวที่ลูกได้รับน้ำนม (สารอาหาร) ไม่เพียงพอ ทำให้เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่หมดกำลังใจและล้มเลิกการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

จากข้อมูลสถิติของหอผู้ป่วยสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลสุโขทัย ในปี 2545-2556 พบปัญหาน้ำนมไม่ไหล หรือไหลน้อยทั้งในช่วงพักฟื้นอยู่โรงพยาบาลมีอัตราเฉลี่ยร้อยละ 37.61 และจากสถิติคลินิกนมแม่ พบอัตราการล้มเลิกเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เฉลี่ยร้อยละ 12.09

นส.เพ็ญนภา กล่าวว่า ปัญหาน้ำนมไม่ไหลหรือไหลน้อย เป็นปัญหาที่สำคัญของแม่หลังคลอด และเป็นปัญหาที่สำคัญของการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงได้เกิดแนวคิดที่จะศึกษาวิจัย เพื่อแก้ไขปัญหาการล้มเลิกเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ด้วยนวัตกรรมท่อน้ำนมเทียม ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยกระตุ้นให้แม่หลังคลอดมีน้ำนมเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ทารกได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ

ทั้งนี้อัตราการไหลของน้ำนมแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ระดับ 0 น้ำนมไม่ไหล ระดับ 1 น้ำนมไหลน้อย ระดับ 2 น้ำนมเริ่มไหล ระดับ 3 น้ำนมไหลแล้ว และระดับ 4 น้ำนมไหลดี จากการทำงานพบว่า มีแม่หลังคลอดที่มีปัญหาน้ำนมไม่ไหลหรือไหลน้อย 37%

นอกจากนี้ยังพบว่า การดูดนมที่ถูกต้องของทารกเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลต่อปริมาณสารอาหารที่ทารกจะได้รับ และอัตราการไหลของน้ำนมว่าจะเร็วหรือช้า โดยทั่วไปการดูดนมของทารกมีด้วยกัน 3 ลักษณะ คือ 1.ดูดผิด 2.ดูดน้อย และ 3.ดูดถูกวิธี ซึ่งการดูดนมของทารกที่ถูกวิธีส่งผลต่ออัตราการไหลของน้ำนมได้

นส.เพ็ญนิภา กล่าวว่า การดูดนมที่ถูกต้องของทารกเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผล 2 ประการคือ ทั้งปริมาณสารอาหารที่ทารกจะได้รับอย่างเพียงพอ และอัตราการไหลของน้ำนม

ในการศึกษาวิจัยเชิงพัฒนา ได้ใช้หอผู้ป่วยสูติ-นรีเวชกรรม โรงพยาบาลสุโขทัยเป็นที่ศึกษาเก็บข้อมูล โดยที่แม่หลังคลอดที่มีปัญหาดังกล่าวจะถูกให้จัดเข้าร่วมโครงการศึกษาวิจัย โดยเป็นการให้ความรู้ ความเข้าใจ และขอความร่วมมือในการติดท่อน้ำนมเทียม

การทำงานจะเริ่มด้วยการติดท่อน้ำนมเทียม (feedind tube เบอร์ 3-5) โดยให้ปลายท่อด้านปลายทางอยู่ที่หัวนม เพื่อให้ลูกดูปลายท่อพร้อมกับดูดหัวนมแม่ และเดินแนวท่อตามเต้านม ปลายท่ออีกด้านหนึ่งจะเชื่อมต่อกับ syringe ขนาด 5cc ภายใน syringe จะบรรจุด้วยน้ำนม (เท่ากับขนาดความจุของกระเพาะอาหารของทารก)

นส.เพ็ญนิภา กล่าวว่า หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะติดตามความถูกต้องของลักษณะการดูดนมของทารก รวมทั้งประเมินการไหลของน้ำนมทุกๆ 2 ชั่วโมง ส่วนปริมาณน้ำนม (สารอาหาร) ที่ทารกได้รับด้วยการชั่งน้ำหนักของทารกทุกวัน

ผลการศึกษาที่ได้ พบว่า ในปี 2557 ที่มีการใช้นวัตกรรมท่อน้ำนมเทียม พบว่า มารดาหลังคลอดที่มีปัญหาน้ำนมไม่ไหล หรือไหลน้อยและได้ใช้ท่อน้ำนมเทียม 420 ราย ก่อนออกจากโรงพยาบาลมีอัตราการไหลของน้ำนมดีถึงดีมาก และ 100% ทารกได้รับน้ำนมอย่างเพียงพอ น้ำหนักตัวลดลงเฉลี่ย 4.23% ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ (ทารกจะมีน้ำหนักลดลง 5-6%ของน้ำหนักตัวใน 3-4 วันแรก) เมื่อแม่มีน้ำนมไหลเพียงพอ แม่จะมีระดับความวิตกกังวลลดน้อยลง จากเดิมที่มีความเครียดมากถึง 93.58% และอัตราที่จะล้มเลิกการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ลดลงจากเดิม 12.09% ลดลงเหลือเพียง 5.18%

ทั้งนี้ นส.เพ็ญนิภา กล่าวว่า การใช้นวัตกรรมท่อน้ำนมเทียมนี้ สามารถช่วยกระตุ้นให้น้ำนมของแม่หลังคลอดไหลดีขึ้น ซึ่งส่วนมากจะดีขึ้นได้ภายใน 1 วัน อีกทั้งยังเป็นตัวบอกด้วยว่า ทารกมีการดูดนมที่ถูกต้องหรือไม่ นอกจากนี้อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำท่อน้ำนมเทียมแต่ละชิ้นจะมีราคาไม่เกิน 10 บาท และยังสามารถใช้ได้ตลอด และต้องทำความสะอาดให้ถูกวิธี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง