ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เดินเครื่องควบคุมมาตรฐานสถานพยาบาลและผู้ประกอบโรคศิลปะกว่า 20,000 ทั่วประเทศ ปี 2559 ตั้งเป้าลดการร้องเรียนผู้ประกอบโรคศิลปะไม่เกินร้อยละ 5 ยุติปัญหาร้องเรียนให้เสร็จภายใน 30-90 วัน เผยในปี 2558 ลงโทษคลินิกตกมาตรฐาน เพิกถอนใบอนุญาต 27 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นคลินิกเสริมความงาม ใช้หมอเถื่อน จำนวนเพิ่มขึ้นกว่าปี 2555 ถึง 13 เท่าตัว

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าในปีงบประมาณ 2559 นี้ ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของการเป็นประชาคมอาเซียน สบส.ได้จัดยุทธศาสตร์พัฒนาระบบบริการด้านบริการสุขภาพ ซึ่งเกี่ยวข้องกับมาตรฐานของสถานพยาบาลเอกชนและผู้ประกอบโรคศิลปะ เพื่อคุ้มครองครองความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่น และความเป็นธรรมให้ประชาชนทุกคนทั้งคนไทยและต่างประเทศ โดยเข้มงวดทั้งการออกใบอนุญาตให้ประกอบการ และติดตามควบคุมสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตแล้ว ซึ่งจนถึงขณะนี้มีทั้งหมด 22,922 แห่ง ประกอบด้วยคลินิก 22,578 แห่ง และโรงพยาบาล 344 แห่ง ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 กำหนดไว้  โดยจะเน้น 3 ส่วนหลักควบคู่กันคือ การพัฒนามาตรฐาน กลไกการเฝ้าระวัง และการบังคับใช้กฎหมาย 

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ผลการดำเนินการในปี 2558 ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน จำนวน  348 เรื่อง โดยร้องเรียนด้านการให้บริการของสถานพยาบาล 130 เรื่อง ด้านมาตรฐานการรักษาพยาบาล 122 เรื่อง ค่ารักษาพยาบาลสูง 48 เรื่อง ให้ตรวจสอบสถานพยาบาล 32 เรื่อง การโฆษณาสถานพยาบาล และสถานพยาบาลเถื่อน/หมอเถื่อนอย่างละ  8 เรื่อง ซึ่ง สบส. ได้ดำเนินการตรวจสอบและดำเนินการตามขั้นตอนจนได้ข้อยุติครบทั้งหมด  

ในจำนวนนี้ ลงโทษเพิกถอนใบอนุญาตคลินิกที่ไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 27 แห่ง เพิ่มขึ้นกว่าปี 2555 ถึง 13 เท่าตัว ที่มีการเพิกถอนใบอนุญาตเพียง 2 แห่ง ที่พบมากที่สุดคือ คลินิกประเภทเสริมความงาม ใช้ผู้รักษาโดยไม่ใช่แพทย์ คลินิกที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งจะถูกตัดสิทธิ์ไม่สามารถขอเปิดดำเนินการใหม่ได้เป็นเวลา 2 ปี 

สำหรับมาตรการในปี 2559 นี้  ได้จัดอบรมพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศ ในการตรวจสถานพยาบาลหลังออกใบอนุญาตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นช่วงที่พบการกระทำผิดเกิดขึ้นมากที่สุด และเพิ่มทักษะในด้านการดำเนินคดีกับสถานพยาบาลและผู้กระทำผิด 

ขณะเดียวกันได้ขยายช่องทางการร้องเรียน 9 ช่องทาง ตั้งแต่การไปร้องเรียนด้วยตนเอง แจ้งทางโทรศัพท์ที่ 02-193-7000 ต่อ18822 ทางเอกสาร  อีเมล์ สายด่วน 02-193-7999 จดหมาย เฟซบุ๊คสารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์ (http://www.mrd.go.th/mrdonline2014) เฟซบุ๊คมือปราบสถานพยาบาล และจากหน่วยงานอื่น เช่น สคบ. โดยจะตรวจสอบข้อมูลทุกเรื่อง แจ้งตอบกลับไปยังผู้ร้องเรียนให้ทราบความคืบหน้าภายใน 12 วันหลังรับแจ้ง และดำเนินการให้ได้ข้อยุติโดยเร็วที่สุด ขึ้นอยู่กับการกระทำผิด หากไม่ยุ่งยากก็สามารถจบเรื่องภายใน 30 วัน หากมีความซับซ้อน เช่นรักษาผิดพลาด จะส่งให้สภาวิชาชีพตรวจสอบด้วย แต่จะให้เสร็จภายใน 90 วัน โดยตั้งเป้าลดการร้องเรียนผู้ประกอบโรคศิลปะ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการตรง เช่นแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เป็นต้น ให้มีไม่เกินร้อยละ 5               

นพ.บุญเรือง กล่าวต่อว่า ในส่วนของการเฝ้าระวัง จะเพิ่มความเข้มข้นการตรวจสอบการโฆษณาสถานพยาบาลอวดอ้างเกินความเป็นจริงทางสื่อต่างๆ ทั้งอินเทอร์เน็ต สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ โดยเฉพาะสื่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งขณะนี้แพร่หลายและประชาชนเข้าถึงง่ายทางมือถือสมาร์ทโฟน อันอาจเป็นการชักชวนหรือโอ้อวดเกินความจริง และลงโทษสถานหนัก ขณะเดียวกันพัฒนาศักยภาพประชาชนเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โดยเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางสื่อต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเลือกใช้บริการจากสถานพยาบาลเอกชนที่ถูกต้อง ซึ่งอาจจะเพิ่มเป็นภาษาพม่า กัมพูชา ลาวและเวียดนามด้วย