ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เดินหน้าระบบสุขภาพอำเภอและเขตบริการสุขภาพไปพร้อมกัน รองรับการบริการในพื้นที่ ตั้งเป้าปี 59 มีระบบสุขภาพอำเภอเชื่อมโยง ปฐมภูมิและท้องถิ่น พัฒนางาน ลดอุบัติเหตุ คลินิกโรคไตเรื้อรัง ระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ทีมหมอครอบครัว 

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2559 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กทม. นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายการดำเนินงานระบบสุขภาพระดับอำเภอ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการขับเคลื่อนระบบสุขภาพอำเภอ แก่ผู้รับผิดชอบงานปฐมภูมิและระบบสุขภาพระดับอำเภอ ผู้นิเทศงานพัฒนาระบบบริการสาขาปฐมภูมิและสุขภาพระดับอำเภอ คณะกรรมการพัฒนาเครือข่ายระบบสุขภาพอำเภอ จำนวนกว่า 200 คน

นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนไทยอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตามแนวทางประชารัฐ คือราชการและประชาชนร่วมกันดำเนินการ ตั้งแต่การระดมความคิดเห็นประชาชน พัฒนานโยบายด้านสุขภาพ การมีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ไปจนถึงการใช้ระบบสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System : DHS) เป็นกลไกการทำงานเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อาสาสมัครสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นๆ และประชาชนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันจัดการปัญหาสุขภาพของพื้นที่ให้ประชาชนและชุมชนพึ่งตนเองได้ ไม่ทอดทิ้งกัน มีเครือข่ายบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน

โดยดำเนินการไปพร้อมกับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ใน 12 สาขาหลัก เป็นเครือข่ายบริการที่เชื่อมโยงไร้รอยต่อ เบ็ดเสร็จภายในเครือข่ายบริการ ประชาชนได้รับบริการที่มีมาตรฐาน ใกล้บ้าน 

ในปี 2559 ได้ตั้งเป้าหมายให้มีระบบสุขภาพระดับอำเภอ ที่เชื่อมโยงระบบบริการปฐมภูมิกับชุมชนและท้องถิ่นอย่างมีคุณภาพร้อยละ 85 จากที่มีทั้งหมด 856 แห่ง โดยกำหนดให้พัฒนาใน 4 เรื่อง คือ

1.การพัฒนาตามหลักการดำเนินงานระบบสุขภาพระดับอำเภอ

2.ค้นหาและจัดการแก้ไขปัญหาสุขภาพตามบริบทของพื้นที่อย่างน้อย 3 เรื่อง  

3.พัฒนางานตามนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ การลดอุบัติเหตุ มีการกำหนดจุดเสี่ยง 1 จุดต่อ 1 อำเภอ มีคลินิกโรคไตเรื้อรัง คัดกรองและดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะไตเสื่อม ระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care)

และ 4.การดูแลกลุ่มผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง ได้แก่ ผู้สูงอายุติดบ้าน-ติดเตียง ผู้พิการ ผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า มีทีมหมอครอบครัวดูแลอย่างน้อยร้อยละ 60 ผลการดำเนินงานในปี 2558 ที่ผ่านมา มีทีมหมอครอบครัวแล้ว 66,453 ทีม ดูแลผู้สูงอายุติดเตียง 87,500 คน ผู้พิการ 280,004 คน และผู้ป่วยระยะสุดท้าย 35,506 คน  

ทั้งนี้ การบริหารจัดการระบบสุขภาพระดับอำเภอตามองค์ประกอบ UCARE คือ

1.การทำงานร่วมกันในระดับอำเภอ (Unity District Health Team) ของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

2.การมีส่วนร่วมของเครือข่ายและชุมชน (Community Participation) เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในระดับอำเภอ

3.การทำงานจนเกิดคุณค่า ทั้งกับผู้รับบริการและผู้ให้บริการเอง (Appreciation) ในการบริการปฐมภูมิ

4.การแบ่งปันทรัพยากร และการพัฒนาบุคลากร (Resource Sharing and Human Development) มาใช้ร่วมกัน ภายใต้การบริหารจัดการที่ดีในภารกิจทางสุขภาพ

และ 5.การให้บริการสุขภาพตามบริบทที่จำเป็น (Essential Care) ที่ตอบสนองต่อปัญหาในพื้นที่