ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยด้วยอัตราที่เร็วมาก สวนทางกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับที่ยังไปได้ช้า ขณะที่ข้อมูลจากการสำรวจประชากรสูงอายุปี 2557 พบ มีผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุทั้งหมดมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน

คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 19 มกราคม 22559 รับทราบรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2557 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง

1. ประชากรไทยมีแนวโน้มชัดเจนว่ากำลังสูงวัยขึ้นด้วยอัตราที่เร็วมาก และจะกลายเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในเวลาอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า รัฐบาลจึงต้องเร่งวางนโยบายและหามาตรการต่างๆ เพื่อรองรับสังคมสูงอายุ ดังนี้

1.1 สนับสนุนให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตอยู่อย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรี เช่น การสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตอย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนมีบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุ การสร้างระบบเฝ้าระวัง/ดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท เป็นต้น 

1.2 เสริมสร้างสุขภาพอนามัยของผู้สูงอายุ เช่น การจัดระบบสาธารณสุขให้เอื้อต่อการให้บริการแก่ผู้สูงอายุ ส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพของตนตั้งแต่วัยเยาว์เพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี สร้างระบบอาสาสมัครที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังและดูแลผู้สูงอายุในชุมชน

1.3 ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน เช่น ส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุ สร้างมโนทัศน์ใหม่เกี่ยวกับนิยามผู้สูงอายุเพื่อให้สังคมเห็นว่า ผู้สูงอายุยังมีพลังและมีศักยภาพเป็นผู้ผลิตในตลาดแรงงาน การปรับแก้ระเบียบ กฎเกณฑ์ กฎหมาย ที่เป็นอุปสรรคต่อการจ้างงานผู้สูงอายุ การขยายอายุเกษียณของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น

1.4  จัดทำแผนช่วยเหลือผู้สูงอายุเมื่อเกิดภัยพิบัติ เช่น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับรวมผู้สูงอายุไว้เป็นกลุ่มเป้าหมายในแผนการป้องกัน/รับมือภัยพิบัติ การจัดทำ “คู่มือรับภัยพิบัติ” การช่วยเหลือผู้สูงอายุเมื่อเกิดภัยพิบัติ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรับมือภัยพิบัติจะต้องมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุในพื้นที่ มีการซักซ้อมแผนปฏิบัติการช่วยเหลือผู้สูงอายุตามกำหนดเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งให้ข้อมูลความรู้แก่ผู้สูงอายุในการเตรียมความพร้อม การดูแลตนเอง และการฟื้นฟู หากเกิดภัยพิบัติ

ทั้งนี้ การสูงวัยของประชากรไทย ใน 40 – 50 ปีที่ผ่านมา ประชากรไทยเพิ่มด้วยอัตราที่สูงมากกว่าร้อยละ 3 ต่อปี ปัจจุบันประชากรไทยเพิ่มด้วยอัตราเพียงร้อยละ 0.5 ต่อปี และมีแนวโน้มว่าอัตราการเพิ่มของประชากรจะลดต่ำลงไปอีก โครงสร้างอายุของประชากรไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากที่เคยเป็นประชากรเยาว์วัยในอดีต ได้กลายเป็นประชากรสูงวัยในปัจจุบัน และกำลังสูงวัยยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต

โดยสาเหตุที่ทำให้ประชากรไทยสูงวัยขึ้น ได้แก่ อัตราเกิดที่ลดลงอย่างรวดเร็วในเวลา 2 – 3 ทศวรรษที่ผ่านมา และอายุคนไทยที่ยืนยาวขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนประชากรวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุลดลง โดยในปี 2557 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุวัยต้นจำนวน 5.6 ล้านคน ผู้สูงอายุวัยกลางจำนวน 3.0 ล้านคน และผู้สูงอายุวัยปลายจำนวน 1.4 ล้านคน และในปี 2583 ประมาณว่าจะมีประชากรสูงอายุวัยปลายหรือผู้มีอายุ 80 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว ซึ่งเพิ่มขึ้นเร็วกว่าผู้สูงอายุกลุ่มอื่น โอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ความพิการ หรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เพิ่มมากขึ้น

และรูปแบบการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุในลักษณะการอยู่ตามลำพังคนเดียวหรืออยู่ตามลำพังกับคู่สมรสมีสัดส่วนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมืองหรือเทศบาลจะมีผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคิดเป็นร้อยละมากกว่านอกเขตเทศบาล หากสัดส่วนผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังมากขึ้นไปอีกย่อมจะมีผลต่อการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว

ทั้งนี้ข้อมูลการสำรวจประชากรสูงอายุปี 2557 พบว่า มีผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุทั้งหมดมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน บุตรยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักที่สำคัญของผู้สูงอายุ รองลงมาได้มาจากการทำงาน อย่างไรก็ตามแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุจากบุตรมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะทำงานมากขึ้น