ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาจารย์ภาควิชาสาธารณสุข ม.มหิดล วิเคราะห์สถานการณ์ หมออนามัยร้องนายกฯ 29 ม.ค. เป็นการเมือง เหตุยังไม่มีเหตุผลเคลื่อนขบวนเพียงพอ แถมเปิดช่องดึงอำนาจรัฐจัดการปัญหา พร้อมชี้ สธ.บกพร่อง ไม่รีบยุติสถานการณ์โดยเร็ว ปล่อยบานปลาย แนะทางออกจัดประชุมรับฟังความเห็นผ่านทางไกล เพื่อให้ได้ข้อสรุป พร้อมเตือนหมออนามัยควรวิเคราะห์ข้อเท็จจริง อย่าตกเป็นเหยื่อข้อมูลไม่รอบด้าน   

จากกรณีที่จะมีการเตรียมรวมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีในวันศุกร์ที่ 29 มกราคม 2558 ให้มีการออกกฎกระทรวงสาธารณสุขเพื่อรับรอง รพ.สต.เป็นหน่วยงานในสังกัด และปรับโครงสร้าง สธ.ในส่วน รพ.สต.ที่ได้ผ่าน อ.ก.พ.สป.สธ.แล้ว   

รศ.สุรชาติ ณ หนองคาย

รศ.สุรชาติ ณ หนองคาย อาจารย์ประจำภาควิชาบริหารงานสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า หากให้วิเคราะห์เรื่องนี้คงต้องมุ่งไปที่ประเด็นการเมือง เพราะเมื่อดูจากเหตุผลของการรวมตัวเพื่อเคลื่อนขบวนครั้งนี้ มองว่ายังไม่เป็นเหตุเป็นผลเพียงพอ โดยในกรณีของการปรับโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องดูว่า สธ.ได้ทำการศึกษาวิจัย เปิดรับฟังความเห็น เพื่อนำมาวิเคราะห์รอบด้านแล้วหรือไม่ หากมีหลักฐานครบถ้วนแล้วเรื่องก็น่าจะยุติได้ และควรเคลียร์ในประเด็นที่เป็นปัญหา ไม่ควรปล่อยให้มีการเดินขบวนวุ่นวายที่ภายในกระทรวงสาธารณสุขมักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนกลายเป็นการสร้างวัฒนธรรมท้าทาย ก้าวร้าว และในสถานการณ์ขณะนี้ยังเป็นการท้าทายอำนาจรัฐ สุ่มเสี่ยงต่อการดึงอำนาจรัฐเข้าสู่กระทรวงเพื่อจัดการปัญหาได้

รศ.สุรชาติ กล่าวว่า ขณะเดียวกันต้องพิจารณาว่าฝ่ายที่ประกาศเดินขบวนเคยเข้าร่วมการรับฟังความเห็นปรับโครงสร้าง สธ.หรือไม่ หากเคยอยู่ในที่ประชุมแต่กลับมาเดินขบวนเรียกร้องใหม่ ตรงนี้ต้องพิจารณาว่าทำไมจึงนำประเด็นที่ได้ข้อยุติไปแล้วมาเรียกร้องกันอีก ซึ่งการที่ระบุว่าผู้เข้าร่วมประชุมก่อนหน้านั้นไม่ใช่ตัวแทนและมองว่าโครงสร้างนั้นเป็นปัญหา อยากให้ สธ.ฟังเสียงบ้าง ก็ควรใช้กระบวนการพูดคุยโดยรวบรวมข้อมูลศึกษาต่างๆ มาพูดคุยกับผู้บริหาร สธ.แทน ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีเคลื่อนขบวนในลักษณะนี้

สำหรับในส่วนของโครงสร้าง รพ.สต.ที่ออกมานั้น รศ.สุรชาติ กล่าวว่า ในรายละเอียดไม่ทราบกระบวนการก่อนถึงข้อยุติตามโครงสร้างนี้ แต่หากดูในกระบวนการสาธารณสุข ได้มีการกำหนดให้ รพ.สต. ต้องทำในเรื่องงานรักษา จึงต้องมีการการประกันความรู้เพื่อให้เพียงพอในวิชาชีพ นอกจากนี้สิ่งที่กระทำยังมีผลต่อสังคมจึงต้องกำหนดจรรยาบรรณและจริยธรรมวิชาชีพกำกับ แต่ในส่วนของงานอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่มีการเรียกร้องนั้น ตามกฎหมายก็มีการกำหนดหน้าที่ไว้ ซึ่งการกำหนดโครงสร้าง สธ.จึงละเลยไม่ได้อยู่แล้ว แต่อาจอยู่ในเนื้องานส่วนใดส่วนหนึ่ง ดังนั้นจึงไม่ควรมีการนำประเด็นนี้มาปั่นกระแสให้เกิดความวุ่นวาย  

อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้มองว่า สธ.เองก็บกพร่อง เพราะเมื่อมีประเด็นเกิดขึ้นควรรีบจะชี้แจงเพื่อยุติปัญหาโดยเร็ว ไม่ใช่ปล่อยให้กลายเป็นประเด็นร้อน มีการใช้ข้อเท็จจริงแบบไม่ครบถ้วน บวกใส่ความรู้สึกเพิ่มลงไปเพื่อปลุกกระแส ทำให้เสียหายและสังคมปั่นป่วนไปหมด จนถึงใกล้ถึงวันที่ 29 ม.ค. แล้ว ซึ่งคงต้องถามไปยัง สธ.ด้วยว่า ปล่อยให้เรื่องนี้มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ส่วนที่ สธ.เปิดเวทีประชาพิจารณ์การปรับโครงสร้าง สธ.โดยมีบางกลุ่มไม่เข้าร่วมนั้น แสดงให้เห็นถึงเจตนาอยู่แล้ว ซึ่งหากจะดูในเรื่องนี้ให้ย้อนหลังตั้งแต่การเลือกตั้งสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข จะสามารถวิเคราะห์เหตุการณ์นี้ได้ เพราะทันทีที่ไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข ได้มีการไปจัดตั้งองค์กรและชมรมใหม่ขึ้นเพื่อเคลื่อนไหว

“ขณะนี้ข่าวต่างๆ ที่นำเสนอ ต้องบอกว่าเป็นข้อเท็จจริง คือทั้งมีที่เป็นเท็จและจริงรวมอยู่ด้วย ซึ่งหมออนามัยต้องพิจารณาให้ดี ไม่ตกเป็นเหยื่อของข้อมูลที่ไม่รอบด้าน ซึ่งการชุมนุมในวันที่ 29 ม.ค. นี้ สิ่งที่ตามมาคือการเปิดให้การเมืองเข้ามาวุ่นวายใน สธ.ได้” 

รศ.สุรชาติ กล่าวว่า นอกจากนี้การเคลื่อนไหวและภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกลุ่มหมออนามัยยังส่งผลต่อวิชาชีพ เนื่องจาก พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ.2556 เป็นกฎหมายเกิดใหม่เมื่อปี 2556 แม้ว่าจะมีการดำเนินกิจกรรมมาตั้งแต่ปี 2456 หรือกว่าร้อยปีแล้ว แต่พึ่งมีกฎหมายรองรับ แต่กลับมาเจอความขัดแย้งแบบนี้ส่งผลให้ภาพลักษณ์เสียหายรุนแรง สะท้อนว่าหมออนามัยคุยกันไม่รู้เรื่อง แล้วแบบนี้จะยกระดับให้เป็นวิชาชีพดูแลกันเองได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้ได้มีกฎหมายที่ออกมาใหม่เช่นกัน เพื่อตรวจสอบว่ามีกฎหมายใดที่ไม่มีความเคลื่อนไหวและบังคับใช้หรือไม่ เพื่อดำเนินการกับกฎหมายดังกล่าว ซึ่ง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนได้ออกมา 3 ปีแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ยังตั้งสภาวิชาชีพไม่ได้

“ในฐานะที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยได้ทำการวิเคราะห์ โดยไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ได้วิเคราะห์ไปตามข้อมูลที่ปรากฎ นอกจากนี้ยังเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการสมาคมวิชาชีพสาธารณสุขทั้งชุดเดิมและปัจจุบันจึงมีความเป็นกลาง ซึ่งเป็นห่วงว่า วันนี้หากเราใช้กระแสการเมืองนำ ความเป็นวิชาชีพของหมออนามัยจะบิดเบี้ยวได้ แต่ควรใช้วิชาการและข้อเท็จจริงนำ ซึ่งทางออกในเรื่องนี้ สธ.ควรจัดให้มีการประชุมและให้มีการถ่ายทอดผ่านระบบวีดีโอผ่านทางไกลเพื่อให้ได้ข้อสรุป โดยหมออนามัยทั่วประเทศจะได้รับทราบถึงการประชุมนี้” รศ.สุรชาติ กล่าว