ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เร่งพัฒนาระบบคุณภาพบริการสุขศาลาพระราชทาน ในพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ 17 แห่งทั่วประเทศ ทั้งสถานที่ ยาเวชภัณฑ์ เครื่องมือ บุคลากร เป็นที่พึ่งสุขภาพด่านแรกของนักเรียน ประชาชนในพื้นที่ไกลปืนเที่ยง ในปี 2559 นี้ผ่านการรับรองเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพต้นแบบ 6 แห่งแรก คาดปี 2560 จะดำเนินการครบทุกแห่ง ผลการพัฒนาโดยรวมประชาชนศรัทธา เข้าใจปัญหาการเจ็บป่วยดีขึ้น เข้ารักษาเฉลี่ยแห่งละ 1,400 คนต่อปี การพึ่งหมอผีรักษาลดลง ลดอาการรุนแรงโรคได้ผล 

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2559 นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นพ.ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน เดินทางไปติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาระบบมาตรฐานบริการของสุขศาลาพระราชทาน ในโครงการพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) บ้านแสนคำลือ ต.ถ้ำลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นสถานบริการสาธารณสุข พัฒนามาจากห้องพยาบาลของโรงเรียน ตชด.ดูแลสุขภาพนักเรียนและประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารตามแนวชายแดน ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของ อสม. ชมผลงานของเจ้าหน้าที่และ อสม.ในการดูแลผู้สูงอายุติดเตียง ผู้พิการที่บ้านแอโก๋-แสนคำลือ เพื่อดูความเป็นอยู่และให้กำลังใจ 

นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวว่า สุขศาลาพระราชทานฯ เป็นสถานบริการสาธารณสุขขนาดเล็กอยู่ในสังกัดสำนักงานตำรวจตระเวนชายแดน นับเป็นสถานพยาบาลด่านหน้าในพื้นที่แนวชายแดนทุรกันดาร การเข้าถึงบริการสาธารณสุขยากลำบาก ขณะนี้มีทั้งหมด 17 แห่งใน 9 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ตาก กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ยะลา และนราธิวาส ให้บริการตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา มีบุคลากรปฏิบัติงานเฉลี่ยแห่งละ 3 คน ประกอบด้วยครูพยาบาลสนาม 2 คน ผู้ช่วยเหลือคนไข้ 1 คน

สบส.ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการพัฒนาระบบคุณภาพบริการและพัฒนา อสม.เป็นแกนนำภาคประชาชน ร่วมพัฒนาสุขภาพในชุมชนและโรงเรียน ทำงานเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกับศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ ให้บริการผสมผสานทั้งการรักษาพยาบาลขั้นต้น เช่น ให้ยาเม็ด ทำแผล เจาะเลือดตรวจเชื้อมาลาเรีย ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพ การให้ความรู้ประชาชนในภาษาถิ่น การส่งผู้ป่วยหนักรักษาต่อ 

ผลการประเมินผลโดยรวมการดำเนินงานของสุขศาลาฯ ในรอบ 5 ปี และประเมินจาก อสม.พบว่าชาวบ้านศรัทธา เข้าใจปัญหาการเจ็บป่วยดีขึ้น และเข้าใช้บริการที่สุขศาลาเฉลี่ยแห่งละประมาณ 1,500 คนต่อปี รูปแบบการพึ่งหมอผีซึ่งมักเป็นผู้สูงอายุ เปลี่ยนจากเดิมที่เคยเป็นผู้รักษาโรคทางกาย เป็นที่พึ่งพิงดูแลทางจิตใจแทน ส่งผลให้การรักษาได้ผลดี ป้องกันอาการป่วยรุนแรงแทรกซ้อนได้ผลดี เนื่องจากได้รับการดูแลถูกวิธีมาตั้งแต่เริ่มป่วย โรคที่พบอันดับ 1 ได้แก่โรคทางเดินหายใจเช่นไข้หวัดพบร้อยละ 40 รองลงมาคือระบบย่อยอาหาร ร้อยละ 26 ระบบกล้ามเนื้อ ร้อยละ14 ส่งตัวรักษาต่อที่โรงพยาบาล 95 คน มากที่สุดคือสุขศาลาฯ บ้านเลตองคุ อ.อุ้มผาง จ.ตาก

นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวต่อว่า ในช่วงปี 2559-2560 จะเน้นหนักการพัฒนาระบบบริการของสุขศาลาฯ ให้ได้ตามเกณฑ์คุณภาพมาตรฐานระดับสากลเหมือนกันทั้งหมด เพื่อสร้างความมั่นใจประชาชน โดยตั้งคณะกรรมการรับรองคุณภาพระบบบริการสุขภาพในสุขศาลาฯ 1 ชุด ประกอบด้วยแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการจากหน่วยงานในและนอกสังกัด สบส. สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล และกองกำกับตำรวจตระเวนชายแดน ร่วมกันวางหลักเกณฑ์คุณภาพโดยประยุกต์มาจากเกณฑ์คุณภาพสากลของโรงพยาบาล และปรับให้เหมาะสมกับบทบาท

การดำเนินงานของสุขศาลาฯ มีทั้งหมด 5 หมวด ตั้งแต่โครงสร้างความปลอดภัยสถานที่ มาตรฐานบุคลากร มาตรฐานการบริการดูแลรักษาผู้ป่วย การจัดเครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์ที่จำเป็นดูแลผู้ป่วยทั้งภาวะปกติและฉุกเฉิน และการทำงานเชิงรุก ค้นหาผู้ป่วยเพื่อการเข้าถึงบริการ

จากการตรวจประเมินล่าสุด ในปีนี้มีสุขศาลาผ่านเกณฑ์คุณภาพสามารถให้การรับรองมาตรฐานได้ 6 แห่งเป็นต้นแบบของประเทศ ได้แก่

1.สุขศาลาฯ บ้านแสนคำลือ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน

2.สุขศาลาฯ บ้านแพรกตะคร้อ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

3.สุขศาลาฯ บ้านเลตองคุ อ.อุ้มผาง จ.ตาก

4.สุขศาลาฯ บ้านไอร์บือแต อ.จะแนะ จ.นราธิวาส

5.สุขศาลาฯ บ้านละโอ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส 

6.สุขศาลาฯบ้านไบก์ อ.เมือง จ.ยะลา

และจะเร่งพัฒนาที่เหลืออีก11 แห่ง ผ่านเกณฑ์ทุกแห่งใน พ.ศ.2560                                                                    

นอกจากนี้ ได้จัดหลักสูตรอบรมพัฒนาศักยภาพครูพยาบาลและเจ้าหน้าที่ประจำสุขศาลา เรื่องการการช่วยฟื้นคืนชีพ การรักษาพยาบาลเบื้องต้น ให้มีขีดความสามารถดูแลผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น เช่น รักษาไข้หวัด ไข้มาลาเรีย โรคอุจจาระร่วง อยู่ระหว่างการออกระเบียบกระทรวงสาธารณสุข เพื่อคุ้มครองการปฏิบัติงานด้านการรักษาพยาบาลของครูพยาบาลในการประกอบโรคศิลปะที่สุขศาลาพระราชทานด้วย

เพิ่มรายการยาที่จำเป็นกับโรคที่พบในพื้นที่จากเดิม 53 รายการเป็น 115 รายการ เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้อักเสบ ยาแก้ไอ ยารักษาโรคกระเพาะอาหาร ยารักษาโรคมาลาเรีย วัณโรค ยาบำรุงเลือด โดยมียาสมุนไพร 3 รายการ ได้แก่ ยาประสะมะแว้ง ขมิ้นชันแคบซูล ครีมว่านหางจระเข้ พัฒนาระบบการรักษาทางไกลผ่านทางวิทยุหรือทางอินเตอร์เน็ตเชื่อมระหว่างโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่ การให้ความรู้สุขภาพแก่ชุมชนด้วยภาษาถิ่น ดึงปราชญ์พื้นบ้านมาร่วมสร้างสุขภาพประชาชนด้วย

ด้าน นพ.ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า สุขศาลาฯ บ้านคำลือเปิดบริการตั้งแต่ พ.ศ.2550 มุ่งเน้นงานตามโครงการพระราชดำริ ได้แก่ การควบคุมปัญหาโรคขาดสารไอโอดีน งานโภชนาการ งานอนามัยแม่และเด็ก งานรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค งานคุ้มครองผู้บริโภค มีบุคลากรประจำการ 3 คน ดูแล 2 หมู่บ้านชายแดน คือ บ้านแอโก๋ บ้านแสนคำลือ มีนักเรียน 116 คน มีประชากร 635 คน มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 34 คน มีผู้สูงอายุติดเตียง 1 คน ผู้พิการ 9 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ามูเซอร์ รายได้เฉลี่ย 1,000-1,500 บาทต่อเดือน มี อสม.19 คน ใช้ประปาภูเขาทั้งหมู่บ้าน ครัวเรือนมีส้วมราดน้ำใช้ร้อยละ 87 ในปี 2558 มีผู้ใช้บริการ 1,678 คน ส่วนใหญ่ป่วยเป็นไข้หวัด พบป่วยโรคอุจจาระร่วง 45 คน มาลาเรีย 2 คน เด็กทุกคนได้รับวัคซีนป้องกันโรคตามกำหนดครบถ้วน หญิงมีครรภ์ได้รับการดูแลก่อนคลอดครบ 5 ครั้ง เฉลี่ยร้อยละ 57 พบเด็กน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 2,500 กรัม 3 คน พบป่วยโรคเบาหวาน 7 คน เป็นโรคความดันโลหิตสูง 27 คน สาเหตุจากการกินเค็ม โดยเฉพาะผงชูรส พบเด็กนักเรียนเป็นพยาธิ 7 คน เป็นพยาธิปากขอ 3 คน ไส้เดือน 3 คน และพยาธิแส้ม้า 1 คน เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ขาดสารอาหารระดับ 1-2 ทั้งหมด 23 คน จากทั้งหมด 85 คน ไม่พบเด็กขาดสารไอโอดีน