ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข้อเสนอจาก ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ถึงภาครัฐที่ควรสร้างกลไกจูงใจเอกชนให้หันมาดูแลสุขภาพของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ใช่ปล่อยให้ภาคเอกชนเติบโตและแย่งเค้กก้อนเดียวที่มีอยู่ได้ตามใจต้องการ โดยทิ้งประชาชนที่ขัดสนไว้ให้มีทางเลือกแค่การได้รับการดูแลจาก รพ.รัฐเท่านั้น “เพื่อลดการเก็งกำไรจากการประกอบการ แต่แลกกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหรืออื่นๆ โดยมองว่าเป็นการร่วมลงทุนกัน เพื่อทุนมนุษย์และทุนเศรษฐกิจของประเท แต่น่าเสียดาย ที่ รพ.รัฐโดยเฉพาะโรงเรียนแพทย์และ รพ.ใหญ่ๆ บางแห่งกำลังทำสิ่งตรงกันข้ามกับที่กล่าวมาข้างต้น ในขณะที่ภาคส่วนเอกชนก็อิ่มหนำสำราญกับการเลือกเค้กได้ตามใจชอบ”

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

หลายคนคงไม่รู้ว่า หากสื่อสารกันอย่างดี มีมิตรจิตมิตรใจ ความไม่สบายกายไม่สบายใจจะดีขึ้นราว 20-30%

จากหลักฐานงานวิจัยหลายสาขา การพัฒนาระบบดูแลรักษาพยาบาลให้เป็น "โรงงานอุตสาหกรรม" โดยหวังพึ่งพาสูตรคำนวณทางคณิตศาสตร์นั้น เหมาะสมเฉพาะการจัดการสิ่งของ และสถานที่ เช่น ระบบจัดเก็บยา เส้นทางขนส่งอาหาร เป็นต้น ภายใต้สมมติฐานที่ว่า ฉันจะจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดผลิตภาพและประสิทธิภาพมากที่สุดตามกระแสเห่อของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและวัตถุนิยม ลงทุนให้น้อยที่สุด รีดผลผลิตออกมาเยอะๆ เพื่อจะเกิดกำไรมากๆ...

แต่เมื่อใดที่เอาคณิตศาสตร์มาทำแบบจำลองโมเดลต่างๆ ที่นำมาใช้กับ "คน" โดยตรง เช่น การจ้างคน การจัดตารางงานให้ได้ปริมาณงาน และคนไข้ตามต้องการ การกำหนดให้หมอหรือพยาบาลดูแลหรือทำยอดหัตถการให้ได้จำนวนที่กำหนดตามเวลา หรือแม้แต่การจัดคิวส่งตรวจและผ่าตัด...โปรดเตรียมตัวเตรียมใจรับความเสี่ยง หรือ "หายนะ" และผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นในชีวิตจริงของคนไข้และบุคลากรที่ดูแลรักษาได้เลย

เพราะ "ชีวิต" มีความแปรปรวนอ่อนไหว และไม่มีทางที่จะควบคุมความแปรปรวนดังกล่าวได้อย่างแท้จริง จึงเป็นเหตุผลที่ประเทศพัฒนาแล้วหลายต่อหลายประเทศเริ่มไหวตัวทัน และลดบทบาทของการใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ต่อระบบสุขภาพลงอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา แต่ไปใช้ประโยชน์เรื่องทำ data mining ของ system parameters แทน เพื่อศึกษาภาพรวม ความเป็นไปของลักษณะการเจ็บไข้ได้ป่วยของประชาชนแบบภาพใหญ่ เพื่อนำมาคิดกลวิธีหรือมาตรการพัฒนาระบบสุขภาพ

แปลอีกนัยหนึ่งคือ ลด ละ เลิกที่จะเอาสมการตัวเลขมาปรับหน่วยงานแบบ local optimization อย่างสิ้นเชิง...

Key สำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพไทยคือ การสร้างกลไกอำนวยความสะดวก และลดความเสี่ยงต่อชีวิตคน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยกลไกดังกล่าวนั้น รัฐควรเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อลดทอนอิทธิพลของทุนนิยม ที่เบี่ยงเบนไปเกินงาม แบบสนใจแต่คนมีอันจะกิน (Pro-rich...too much) ดังที่เราเห็นในระบบสุขภาพของประเทศที่เราคุ้นเคยกันดี

เมื่อใดที่กลไกนี้ทำงานได้ดี ก็จะสามารถตอบสนองต่อความต้องการของชนชั้นกลางได้ โดย market segment นี้ จะช่วยลดความเสี่ยงเชิงระบบสำหรับ รพ.ภาครัฐ ที่เกิดจากการรับดูแลคนที่ขัดสนจำนวนมากของประเทศ หรือมีอีกทางนึงคือ การจูงใจให้ภาคเอกชนหันมาดูแลประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างมีคุณภาพ ลดการเก็งกำไรจากการประกอบการ...แต่แลกกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหรืออื่นๆ จากรัฐ โดยมองว่าเป็นการร่วมลงทุนกัน เพื่อทุนมนุษย์และทุนเศรษฐกิจของประเทศ...

...น่าเสียดาย...ที่โรงพยาบาลรัฐโดยเฉพาะโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลใหญ่ๆ บางแห่งกำลังทำสิ่งตรงกันข้ามกับที่กล่าวมาข้างต้น...ในขณะที่ภาคส่วนเอกชนก็อิ่มหนำสำราญกับการเลือกเค้กได้ตามใจชอบ

ฝ่ายบริหารบ้านเมืองควรเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สถานพยาบาลภาครัฐ และเสริมศักยภาพและสนับสนุนให้ภาคส่วนประชาสังคมมีส่วนร่วมในการช่วยตรวจสอบ แนะนำ และร่วมพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ เพื่อให้เกิดสมดุลแห่งพลัง (balance of power) จึงจะทำให้เกิดประโยชน์สุขต่อสาธารณชนโดยรวมอย่างแท้จริง

แต่ที่ผ่านมา...ดูแล้วน่าเป็นห่วงครับ

ผู้เขียน ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เอกสารอ้างอิง

1. Industrial and systems engineering and healthcare: critical areas of research. AHRQ Publication, September 2009.

2. Langabeer JR. Performace improvement in hospitals and health systems, 2009. 3. Performance-based regulations: prospects and limitations in health, safety, and environmental protection. Harvard University, 2002.