ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน เผยประเด็น Data Exclusivity (DE) จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาค่อนข้างมาก ทั้งนี้รวมไปถึงข้อบทว่าด้วยข้อมูลที่รั่วไหลด้วย หากมีการคุ้มครองตามนั้น บริษัทเอกชนที่ค้นข้อมูลได้จากอินเตอร์เน็ท จะไม่มีทางรู้เลยว่าเป็นข้อมูลที่ยังมีสิทธิบัตรหรือไม่ นำไปพัฒนาต่อยอดได้หรือไม่ บริษัทยาเอกชนจะรับผลกระทบเต็มๆ เพราะจะไม่สามารถผลิตยาชื่อสามัญได้เลย

เมื่อ 28 มกราคม 2559 กรมเจรจาการค้า กระทรวงพานิชย์เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อประเด็น การเยียวยาหากประเทศไทยจะเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ภาคพื้นแปซิฟิค หรือ TPP โดยจัดเป็นรอบนักวิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ โดยนายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้อยากจะหารือกับทุกภาคส่วนว่าหากประเทศจะเข้าเป็นสมาชิก TPP มีประเด็นอะไรที่ต้องเตรียมสำหรับการเยียวยาได้บ้าง

นางสาวณัฐกานต์ กิจประสงค์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า อยากถามให้ชัดๆ ว่าเวทีที่จัดขึ้นในวันนี้ หมายความว่าประเทศจะเดินหน้าเข้าเป็นสมาชิก TPP แน่นอนใช่หรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน สังคมมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ที่เห็นคือทุกหน่วยงานต่างจัดเวทีเพื่อหารือทิศทางการเยียวยา ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้มีข้อมูลการประเมินผลกระทบอื่นๆ ที่รอบด้าน

“การตกลงการค้าเสรีใดใดที่ผ่านมา ประเทศไม่เคยได้ใช้มาตรการที่คิดหรือเตรียมไว้เพื่อเยียวยาต่อความเสียหายประเด็นต่างๆ ได้เลย แม้แต่เรื่องในเชิงการจัดการภาครัฐที่คาดว่าจะเตรียมการได้ เช่น ระยะเวลาคำขอสิทธิบัตรที่ไม่นานเกินไป ที่ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาบอกว่าข้อนี้น่าจะไม่เป็นปัญหาต่ออายุสิทธิบัตรยา คำถามคือจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร แล้วยังไม่นับรวมความเสียหายที่ไม่สามารถนับเป็นรูปธรรมได้ เช่น ชีวิตที่อาจจะสูญเสีบไปจากการเข้าไม่ถึงยา พันธ์พืชพันธ์สัตว์ที่ถูกผูกขาดจนทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง การเข้ามาเต็มตัวของ GMO การผูกขาดเมล็ดพันธ์ที่จะเปลี่ยนวิถีของเกษตรกรรายย่อย รวมไปถึงการทำลาวิถีชีวิต การอยู่ร่วมของชุมชน สิ่งเหล่านี้ จะเอาอะไรมาเยียวยาได้ งบประมาณมากเพียงใดก็ไม่มีทางเยียวยาผลกระทบทางสังคมเหล่านี้ได้"

นางนันทวรรณ หาญดี เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า "วิธีการเยียวยาที่ดีที่สุดคือการไม่ทำ ไม่ตัดสินใจเข้าร่วมทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ประเมินผลกระทบอะไรเลย ไม่อยากให้เวทีนี้เป็นเวทีฉาบฉวย ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่เล็ก และใหญ่ขนาดที่คนระดับนายกรัฐมนตรีก็รับผิดชอบไม่ได้ การทำเรื่องนี้ต้องใช้เวลา ให้ความรู้ประชาชน เปิดให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างกว้างขวาง อยากเห็นหน่วยงานของกระทรวงพานิชย์เอง ทำเพื่อทุกคนของประเทศ ไม่ใช่ฟังแต่ภาคธุรกิจ ไม่อย่างนั้นสิ่งที่ได้มา คือหายนะ"

นายทัฬ ปึงเจริญกุล ผู้อำนวยการบริหารสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน กล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือ เรื่อง Data Exclusivity (DE) จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาค่อนข้างมาก ทั้งนี้รวมไปถึงข้อบทว่าด้วยข้อมูลที่รั่วไหลด้วย หากมีการคุ้มครองตามนั้น บริษัทเอกชนที่ค้นข้อมูลได้จากอินเตอร์เน็ท จะไม่มีทางรู้เลยว่าเป็นข้อมูลที่ยังมีสิทธิบัตรหรือไม่ นำไปพัฒนาต่อยอดได้หรือไม่ บริษัทยาเอกชนจะรับผลกระทบเต็มๆ เพราะจะไม่สามารถผลิตยาชื่อสามัญได้เลย ยังไม่อยากให้คุยเรื่องการเยียวยา และอยากให้เร่งแปลข้อตกลง แล้วศึกษาเทียบกับกฎหมายไทยก่อน ที่จะลัดขั้นตอนมาหารือเรื่องการเยียวยา