ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ขรก.สายวิทย์สุขภาพ เตรียมหารือร้องขอความเป็นธรรมอีกรอบ หลัง ก.พ.ออกหลักเกณฑ์จำกัดการเยียวยาผู้ถูกลดระดับและเงินเดือนตันจากเปลี่ยนสายงาน ส่งผลมีผู้ได้รับเยียวยารอบแรก 12 คน จากจำนวนทั้งหมดที่ยื่นข้อเรียก ทั้งที่บางคน ได้รับผลกระทบไม่แตกต่างกัน มองเป็นเพียงแค่การลดกระแส พร้อมระบุ ก.พ.แจงเหตุผล หวั่นกระทบสายงานอื่นและด้านงบประมาณ

นายโยธิน ทองศิริ นักเทคนิคการแพทย์ระดับชำนาญการ โรงพยาบาลน่าน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้มีหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด โดยแจ้งผลการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งได้อนุมัติการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนสายงานตาม ก.พ. ให้กับนักรังสีการแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ได้เข้าร้องขอความเป็นธรรมมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลายาวนานหลายปี

และเมื่อล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 ได้ยื่นหนังสือผ่านศูนย์ร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาลเนื่องจากถูกลดระดับและเงินเดือนที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ปฏิบัติงาน โดยขอให้เยียวยาซึ่งเคยเยียวยาสายงานพยาบาลเทคนิคที่ย้ายและเปลี่ยนเป็นพยาบาลวิชาชีพก่อนหน้านี้ แต่การเยียวยาของ ก.พ. ครั้งนี้ ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การเยียวยาให้กับผู้ที่ย้ายเปลี่ยนสายงานก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2551 และเฉพาะกับผู้ที่เงินเดือนตันทันที ทำให้มีผู้ที่ได้รับการเยียยาตามหลักเกณฑ์นี้เพียงรอบแรกแค่ 12 คนเท่านั้น กับผู้ที่เข้าเกณฑ์ได้รับการเยียวยาซึ่งต้องมีการสำรวจรายชื่อจากทั่วประเทศตามที่หนังสืออนุมัติการเยียวยาซึ่งต้องยื่นให้กระทรวงหรือ กพ.พิจารณาเป็นรายๆ ไป

ทั้งนี้จากหลักเกณฑ์การเยียวยาดังกล่าว ทำให้ผู้ที่ถูกลดระดับและเงินเดือนตันในอีก 1-2 ปีต่อมา ซึ่งมีเป็นจำนวนมากจะไม่ได้รับการเยียวยาไปด้วย ซึ่งจะทำให้เงินเดือนไม่ขึ้นต่อเนื่อง 4-5 ปี ทั้งที่อยู่ในภาวะที่ไม่ต่างจากผู้ที่ถูกลดระดับและเงินเดือนตันเลย อีกทั้งการกำหนดเกณฑ์ก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2551 ยังทำให้ผู้ที่เปลี่ยนสายงานหลังจากนั้น แม้ว่าจะประสบภาวะถูกลดระดับและเงินเดือนตันก็จะไม่ได้รับการเยียวยา

นายโยธิน กล่าวว่า ในส่วนของตนซึ่งได้เปลี่ยนสายงานจากตำแหน่งเจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ไปเป็นตำแหน่งนักเทคนิคการแพทย์ก็ไม่ได้รับการเยียวยาในครั้งนี้ เนื่องจากเงินเดือนที่ได้รับยังไม่ตัน เพราะช่วงย้ายสายงานเงินเดือนยังไม่สูงมาก ทำให้ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์นี้ด้วย

นายโยธิน กล่วต่อว่า จากการสอบถาม ก.พ.ได้ชี้แจงว่า หากเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดจะส่งกระทบไปยังสายงานอื่นๆ ด้วย และคิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับงบประมาณที่จำกัด แต่คงต้องมีการหารือกันภายในกลุ่มผู้ที่ยังได้รับผลกระทบ และอาจต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อไปร้องขอความเป็นธรรมจาก ก.พ.อีกครั้ง อย่างไรก็ตามคงต้องรอให้ ก.พ.มีหนังสือปรับเงินเดือนให้กับผู้ที่ได้รับการเยียวยาทั้ง 12 คนก่อน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ เพราะบางคนน่าเห็นใจนอกจากถูกลดเงินเดือนจำนวนมากแล้ว บางคนลดประมาณ 5,000 บาทแล้วยังเงินเดือนตันมา 5-6 ปี เเละต้องลดระดับไประดับปฎิบัติการ 5 ปี จึงมีสิทธิ์ทำชำนาญการได้ เมื่อเปรียบเทียบกับข้าราชการระดับเดียวกันสายงานเดิมที่ระดับเงินเดือนแตกต่างกันมาก ซึ่งเสมือนถูกลงโทษทางวินัยทั้งๆ ที่ข้าราชการสายงานต่างๆ นี้ไปศึกษาต่อเพื่อพัฒนาตัวเองยกมาตราฐานในสายงานวิชาชีพตามนโยบายของรัฐบาล โดยใช้งบประมาณส่วนตัวค่าใช้จ่ายจำนวนมาก อีกทั้งพี่ๆ บางคนยังใกล้เกษียณ ซึ่งจะมีผลต่อการคิดคำนวนบำเหน็จบำนาญต่อไป

“การที่ ก.พ.กำหนดหลักเกณฑ์เยียวยาแบบนี้ เข้าใจว่า ก.พ.เป็นนักต่อรอง และการอนุมัติเยียวยาเพียงแค่ 12 คนก็เพื่อลดกระแสเท่านั้น เพราะหาก ก.พ.มีเจตนาที่จะดูแลผู้ปฎิบัติงานก็ควรที่จะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด เพราะต้องปรับสายงานทุกคนในทุกกลุ่มก็ได้รับผลกระทบหมด แต่เวลาเยียวยากลับมีการตั้งหลักเกณฑ์ต่างๆ มากำหนด มองว่าไม่ยุติธรรม” นายโยธิน กล่าว