ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปธ.กมธ.สาธารณสุข สนช.ระบุต้องวางตัวเป็นกลาง งดออกความเห็น “ต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรม” ขอรับฟังความเห็นจากฝ่ายเห็นด้วยและคัดค้านก่อน ย้ำต้องพิจารณาอย่างรอบด้านและยึดประโยชน์ประชาชน ส่วนการแก้ไขต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์ยังไม่ส่งเข้า ครม.

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ.2559 ได้ผ่านที่ประชุม สนช.ในวาระรับหลักการแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดของคณะกรรมาธิการสาธารณสุขซึ่งมีตนเป็นประธาน และได้มีการประชุมพิจารณาไปแล้ว 1 ครั้ง โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่กำลังเป็นประเด็นคือ การต่อใบอนุญาตวิชาชีพทันตกรรม จาก พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรมฉบับเดิมไม่มีประเด็นนี้ ซึ่งในฐานะกรรมาธิการสาธารณสุขในฐานะผู้พิจารณากฎหมายนี้คงยังให้ความเห็นก่อนไม่ได้ เพราะต้องคงความเป็นกลาง และคงค้องรอฟังความเห็นจากทั้ง 2 ฝ่ายก่อน ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและคัดค้านในการต่อใบอนุญาต

นพ.เจตน์ กล่าวว่า ฝ่ายที่เห็นด้วยที่ให้มีการกำหนดต่อใบอนุญาตวิชาชีพ มองว่าเป็นการทำเพื่อคุ้มครองประชาชน เพื่อให้ทันตแพทย์มีการพัฒนาเพิ่มพูนองค์ความรู้ในวิชาชีพทันตกรรมต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ของประชาชนในฐานะผู้รับบริการ ขณะที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยมองว่าเป็นกาลิดรอนสิทธิของทันตแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตไปก่อนหน้านี้ และกฎหมายที่ออกมาใหม่ ตามหลักการก็ไม่ควรมีผลย้อนหลังไปยังผู้ที่ได้รับสิทธิไปแล้วก่อนหน้านี้ ดังนั้นจำเป็นที่เราต้องฟังความเห็นจากทั้ง 2 ฝ่าย และพิจารณาอย่างรอบด้านก่อน รวมถึงประโยชน์ของประชาชน

อย่างไรก็ตามการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรมมี 2 ประเภท คือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทั่วไป และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเฉพาะทาง อย่างเช่น การฝังรากฟันเทียม การดัดฟัน เป็นต้น โดยประเด็นที่ยื่นมานี้เป็นเรื่องการต่อใบอนุญาตทั่วไป เพราะในส่วนของทันตแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางโดยปกติจะต้องมีการติดตามงานวิชาการและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อพัฒนาความรู้ในวิชาชีพต่อเนื่องอยู่แล้ว

“ขณะนี้มีเพียงแค่ 2 วิชาชีพเท่านั้น ที่ไม่มีการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ คือ ทันตแพทย์ที่อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขกฎหมายขณะนี้ และแพทย์ ซึ่งเท่าที่ทราบ ขณะนี้ยังไม่ได้ส่งร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. สำหรับในส่วนของเภสัชกรใช้วิธีการพิจารณาจากหลักฐานการเข้าอบรม การประชุมวิชาการและพัฒนาองค์ความรู้แทน” ประธาน กมธ.สาธารณสุข กล่าว

นพ.เจตน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทันตแพทยสภาได้เข้าชี้แจงร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม และให้ความเห็นแล้ว ซึ่งหากสามารถได้ข้อสรุปในประเด็นการต่อใบอนุญาตวิชาชีพได้ การพิจารณากฎหมายก็จะแล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งคาดว่าคงใช้เวลาพิจารณาอีกเพียงแค่ 2-3 ครั้งเท่านั้น เพราะมีเพียง 6 มาตรา ซึ่งในประเด็นอื่นๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร