ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ปรับปรุงกฎหมายควบคุมมาตรฐานหน่วยบริการสุขภาพเคลื่อนที่ของสถานพยาบาลทั่วประเทศ ให้ทันสมัยทั้งบุคลากร เครื่องมือแพทย์ รถเอ็กซเรย์ รถทำฟัน รถตรวจชันสูตรโรค เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยประชาชน ป้องกันหมอเถื่อนหรือผู้ประกอบโรคศิลปะเถื่อน ขณะนี้ผ่านการทำประชาพิจารณ์แล้ว เตรียมนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสถานพยาบาล 2 มีนาคม 2559 และจะเสนอ รมว.ลงนามโดยเร็ว เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันที

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ สบส. ได้เร่งดำเนินการปรับปรุงกฎหมายที่อยู่ในความดูแลของกรมฯ คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 4 พ.ศ. 2542 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การยกเว้นสถานพยาบาลที่ไม่ต้องอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ซึ่งใช้มาแล้ว 16 ปี เพื่อให้ทันสมัย สอดคล้องสภาพการเปลี่ยนแปลงสังคมและรูปแบบบริการประชาชน คุ้มครองความปลอดภัยและเกิดประสิทธิผลที่สุดแก่สุขภาพประชาชน ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข   

ทั้งนี้สถานพยาบาลที่ต้องปฏิบัติตามประกาศฯ ฉบับเดิมนั้น  ครอบคลุม 4 ประเภท ได้แก่

1.สถานพยาบาลที่ดำเนินการในด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ พัฒนาสุขภาพอนามัย การควบคุมและป้องกันโรคในลักษณะจัดสวัสดิการเจ้าหน้าที่ พนักงาน ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน สถานศึกษาเอกชน นายจ้าง ผู้ให้บริการขนส่งเช่นเครื่องบินโดยสาร เรือเดินทะเล  ไม่ได้มีความประสงค์เชิงธุรกิจการค้า 

2.เป็นสถานพยาบาลที่ใช้ยานพาหนะในการออกไปให้บริการเคลื่อนที่ ณ สถานที่ใดที่หนึ่งเป็นการชั่วคราว และมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือหรือสงเคราะห์โดยไม่เรียกเก็บค่าบริการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้บริการขององค์กรการกุศลต่างๆ มูลนิธิ สถานพยาบาลเอกชนหรือของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยผู้ให้บริการต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม

3.โรงพยาบาลที่จัดหน่วยบริการตรวจหรือดูแลสุขภาพเคลื่อนที่แก่พนักงาน นักศึกษาตามสัญญาประกันสุขภาพหรือตรวจสุขภาพประจำปีระหว่างสถานพยาบาลกับหน่วยงานนั้นๆ

และ 4.เป็นสถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย โดยผู้ให้บริการต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ หรือผู้ประกอบโรคศิลปะ โดยสถานพยาบาลประเภทที่มีเตียงรับผู้ป่วยค้างคืนต้องขออนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลและใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล แต่ไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีและค่าต่ออายุใบอนุญาต

นพ.บุญเรือง กล่าวต่อว่า ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่นี้ ได้ปรับปรุงให้ครอบคลุมสถานพยาบาลเป็น 5  ประเภท โดยเพิ่มเรื่องยานพาหนะที่ใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วย โดยต้องแจ้งการประกอบกิจการสถานพยาบาลที่สำนักสถานพยาบาลและการปะกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุจำนวนผู้ประกอบวิชาชีพ และใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะให้ชัดเจน 

และได้กำหนดมาตรฐานบริการเพิ่มเติม ตามคำแนะนำของคณะกรรมการสถานพยาบาล เช่น กำหนดมาตรฐานรถเอ็กซเรย์เคลื่อนที่ ต้องมีเครื่องป้องกันอันตรายจากรังสีที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ มีนักรังสีวิทยาเป็นผู้ให้บริการ รวมทั้ง รถทันตกรรม รถปฏิบัติการชันสูตร รถหัตถการทางการแพทย์ เป็นต้น 

ในด้านบุคลากรที่ออกไปให้บริการ ต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพหรือผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาต่างๆ ตามลักษณะของการให้บริการนั้นๆ เช่นแพทย์ กายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์ การแพทย์แผนไทย และมีสมุดทะเบียนผู้ป่วย บันทึกการปฏิบัติงาน และต้องแจ้งวันเวลา สถานที่และชื่อผู้ประกอบวิชาชีพที่ออกไปให้บริการ สามารถตรวจสอบได้ โดยหากปรากฏว่าการให้บริการของสถานพยาบาลใด มีลักษณะอันน่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้บริการ และไม่แก้ไขปรับปรุงตามคำสั่งของพนักงาน มีโทษสั่งปิดสถานพยาบาลชั่วคราว หรือสั่งเพิกถอนสถานพยาบาลนั้นๆ 

ขณะนี้ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขผ่านการทำประชาพิจารณ์จากผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนเสร็จแล้ว และจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสถานพยาบาล ในวันที่ 2 มีนาคม 2559 หลังจากนั้นจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม และมีผลใช้บังคับทันที