ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เจ้าพนักงานสาธารณสุข (จพ.) วุฒิปริญญาตรี จี้ สป.สธ.กำหนดแนวทางเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้ชัดเจน เหตุยังมีหลายพื้นที่ตีความเบิกค่าตอบแทนต่างกัน ส่งผล จพ.เสียสิทธิ แนะ สป.สธ.ออกหนังสือสั่งการเร่งด่วน มอบหมาย จพ.ที่มีวุฒิปริญญาตรีปฏิบัติงาน นวก.ได้ทันที และ ให้เบิกจ่ายค่าตอบแทนเป็นแนวทางเดียวกัน พร้อมลดเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนระหว่างวิชาชีพไม่ให้ต่างเป็น 100 เท่า 600 บาทกับ 60,000 บาทเช่นนี้

นายอดิศักดิ์ มะประสิทธิ์ แกนนำเจ้าพนักงานสาธารณสุข (จพ.) ที่มีวุฒิปริญญาตรีชายแดนใต้ กล่าวขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีในหลายประเด็นที่เกี่ยวกับชาว รพ.สต.ภายหลังมีการขับเคลื่อน 29 ม.ค.59 โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับเจ้าพนักงานที่มีวุฒิปริญญาตรี

นายอดิศักดิ์ กล่าวต่อว่า แต่อยากฝากอีกประเด็นที่นำเสนอที่ กพร.ในวันที่ 29 ม.ค.59 คือ ให้ สป.สธ.มีหนังสือที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข ระดับเจ้าพนักงานที่มีวุฒิปริญญาตรี ที่ผ่านมาแม้ว่า มี ว.552/58 (หนังสือ สธ.ที่ 0201/ว.552 ลงวันที่ 14 กันยายน 2558) ให้ผู้บังคับบัญชา (ผอ.รพ./สสอ/ผอ.รพ.สต.) สามารถมอบหมายให้ จพ.ปฏิบัติหน้าที่ นวก.และสามารถเบิกค่าตอบแทนในเรท นวก.ได้นั้น ปรากฏว่า หลายจังหวัดได้มีการดำเนินการไปแล้ว โดยบางจังหวัดได้หารือไปยัง สป.สธ.และ สป.สธ.ได้ตอบกลับมาว่าสามารถดำเนินการตามแนวทางข้างต้นได้เลย (มีคำสั่งมอบหมายงานให้เป็น นวก.แล้วสามารถเบิกค่าตอบแทนในเรท นวก.ได้เลย)

แต่ปรากฏว่าหลายจังหวัด หลายอำเภอ ผู้บังคับบัญชาไม่มีการเคลื่อนไหว โดยอ้างดังนี้

1. อ้างว่าเกรงจะกระทบงบประมาณ และค่าน้ำค่าไฟของ รพ.สต.ซึ่งตนมองว่าไม่น่าจะติดขัดหรือกระทบอะไร เพราะเป็นขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ และเพิ่มค่าตอบแทนแค่ 300-900 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าน้อยนิดมากเมื่อเทียบกับวิชาชีพอื่นที่ได้หลักหมื่น (สูงสุดหกหมื่นบาทต่อเดือน) ซึ่งเรื่องนี้ รัฐบาลและ สธ.ควรต้องปฏิรูป รพ.สต.ทั้งระบบให้มีงบประมาณที่เพียงพอด้วย

2. บางจังหวัดที่ดำเนินการไปแล้ว ก็มีการตีความการเบิกค่าตอบแทนของ จพ.จบปริญญาตรีที่ต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่นตีความว่า พกส.เบิกไม่ได้, มีนวก.อยู่แล้วก็เบิกไม่ได้, บางพื้นที่ตีความว่า จพ.อาวุโสที่จบปริญญาตรี ไม่ได้ฉบับ 8, จพ.ชำนาญงานที่เป็น ผอ.รพ.สต.ก็เบิกไม่ได้ เพราะไปตีความว่าเป็นตำแหน่งบริหาร (ทั้งๆ ที่ทำงานทุกอย่างไม่ใช่แค่บริหารอย่างเดียวและไม่มีเงินประจำตำแหน่งด้วย) หรือตัดสิทธิโดยตีความเป็นอย่างอื่น ตนมองว่าประเทศเดียวกัน น่าจะใช้บรรทัดฐานเดียวกันทั้งประเทศ ไม่น่าจะมีการตีความที่วุ่นวายที่ทำให้บุคลากรเสียสิทธิถึงเพียงนี้

จึงวอนให้กระทรวงออกหนังสือสั่งการที่เร่งด่วนชัดเจน เวียนทั่วประเทศ ดังนี้

1. ให้ทุกหน่วยงานที่มี จพ.ที่มีวุฒิปริญญาตรี ทำคำสั่งมอบหมายงานให้ปฏิบัติงานในตำแหน่ง นวก.โดยทันที

2. ให้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานเบิกค่าตอบแทนให้ จพ.จบปริญญาตรีเบิกค่าตอบแทนตามสิทธิอันพึงมีพึงได้

3. ให้ทุกอำเภอ จังหวัด ตีความไปในทิศทางเดียวกัน และไม่ควรตีความไปในทางที่ทำให้บุคลากรเสียสิทธิ

4. รัฐควรเยียวยา จพ.จบปริญญาตรีทุกจังหวัดที่เสียสิทธิ ไม่ได้รับการเบิกในเรท นวก.อย่างน้อยย้อนหลังตั้งแต่ 1 ต.ค.57

5. รัฐควรจัดสรรงบอื่นๆ ลง รพ.สต.เพื่อแก้ไขปัญหาทางการเงิน รพ.สต.ที่ประชากรน้อย เสี่ยงภัย กันดาร เช่น จัดสรรงบhardship หรืออื่นๆ ลงมายัง รพ.สต.

6. เร่งรัดลดความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนระหว่างวิชาชีพ มิให้มีหลักเกณฑ์ที่สองมาตรฐาน และมีความต่างเป็น 100 เท่า (หกร้อยบาทกับหกหมื่นบาท)

“ทั้งนี้ในฐานะตัวแทน จพ.จบปริญญาตรีชายแดนใต้ และตัวแทน จพ.ทั่วประเทศได้ฝากประเด็นนี้ให้ตัวแทนชมรม ผอ.รพ.สต.ไปหารือและติดตามที่กระทรวงในวันที่ 26 ก.พ.นี้ด้วยแล้ว” นายอดิศักดิ์กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง