ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เตรียมพร้อมหน่วยบริการให้คำปรึกษาการเลิกบุหรี่กว่า 500 แห่งทั่วประเทศ พร้อมดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผลักดันให้โรงเรียนในสังกัด สพฐ.เป็นโรงเรียนปลอดบุหรี่ 100% ภายในปี พ.ศ.2561 นี้ รองรับมาตรการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ 

นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีกระทรวงการคลังปรับขึ้นภาษีบุหรี่ซิกาแรตที่ขายในประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา โดยมีการปรับอัตราภาษีบุหรี่ซิกาแรต ทั้ง 2 ลักษณะ คือ 1.อัตราภาษีตามมูลค่า จากเดิมคิดที่ 87% ขึ้นเป็น 90% และ 2.อัตราภาษีตามปริมาณ จากเดิมเก็บ 1 บาทต่อกรัม ขึ้นเป็น 1.10 บาทต่อกรัม ซึ่งส่งผลให้ราคาขายปลีกของบุหรี่ซิกาแรตที่ขายในประเทศปรับเพิ่มขึ้นจากราคาขายเดิมอีกอย่างน้อย 5-10 บาทต่อซอง

ซึ่งจากมาตรการขึ้นภาษีบุหรี่ซิกาแรตในช่วงเวลาที่ผ่านมา ส่งผลสำคัญทําให้อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากสํานักควบคุมการบริโภคยาสูบ พบว่าในปี พ.ศ. 2534 อัตราการบริโภคยาสูบในกลุ่มนี้ สูงร้อยละ 32 ซึ่งข้อมูลล่าสุดในปี พ.ศ. 2557 อัตราการบริโภคยาสูบลดลงเหลือเพียงร้อยละ 20.7 หรือคิดเป็น 11.36 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นเยาวชนในช่วงอายุ 15-24 ปี ซึ่งเป็นนักสูบหน้าใหม่มากถึง 1.4 ล้านคน 

ทั้งนี้การลดลงของอัตราการบริโภคยาสูบ มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของอัตราภาษีและราคาบุหรี่อย่างเห็นได้ชัด ในส่วนการเข้าถึงบุหรี่ของเยาวชนนั้น พบว่า ส่วนใหญ่ซื้อมาสูบแบบเป็นมวน/แบ่งมวนขาย ร้อยละ 68.25 รองลงมา ได้แก่การซื้อเป็นซองร้อยละ 31.46 เมื่อพิจารณาการเข้าถึงบุหรี่ในมิติของแหล่งซื้อผลการสำรวจยังพบว่า เยาวชนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ซื้อบุหรี่มาสูบจากร้านค้าใกล้บ้าน/ที่พักอาศัย หรือที่เรียกทั่วไปว่าร้านขายของชำ ร้อยละ 91.00 รองลงมาได้แก่ ร้านค้าใกล้สถานศึกษา/ที่ทำงาน ร้อยละ 2.98 และร้านสะดวกซื้อร้อยละ 2.65

นพ.อำนวย กล่าวต่อไปว่า มาตรการการปรับขึ้นภาษีดังกล่าว ส่งผลดีต่อการควบคุมการบริโภคยาสูบโดยเฉพาะนักสูบหน้าใหม่ และนักสูบกลุ่มเยาวชนในประเทศไทย ซึ่งมาตรการการขึ้นภาษีบุหรี่นี้ องค์การอนามัยโลกได้กําหนดให้เป็นมาตรการสำคัญที่มีประสิทธิภาพสูงในการดําเนินงานเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบ เช่นเดียวกับการห้ามโฆษณาและการส่งเสริมการขายบุหรี่ ทั้งนี้ ในส่วนบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการปรับมาตรการเพื่อรองรับการขึ้นภาษีบุหรี่ โดยมีการดำเนินการที่สำคัญดังนี้

1.สนับสนุนหน่วยบริการสาธารณสุข ในการจัดบริการให้คำปรึกษาการเลิกบุหรี่กว่า 500 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ประชาชนที่ไม่สะดวกไปใช้บริการจากหน่วยบริการสาธารณสุข ยังสามารถเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์โดยไม่เสียค่าโทรศัพท์ ของศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (ศบช.)หรือ Quitline 1600 

2.กรมควบคุมโรคดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ในการผลักดันให้โรงเรียนในสังกัด สพฐ.เป็นโรงเรียนปลอดบุหรี่ 100% ภายในปี พ.ศ.2561 นี้

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคยังได้มีการผลักดันให้มีมาตรการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422