ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการด้านสารสนเทศสุขภาพ กระทุ้งแผนปฏิรูป e-Health ต้องตั้งหน่วยงานกลางมาดูแลบูรณาการระบบสารสนเทศสุขภาพในโรงพยาบาลทุกสังกัดทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชน ถึงจะเกิดความยั่งยืน

นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์

นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ อาจารย์สังกัดภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า แผนดำเนินการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านสาธารณสุขระยะ 18 เดือน และแนวทางปฏิรูปต่อเนื่องปีงบประมาณ 2531-2565 ที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินคณะที่ 4 ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นอกจากมีด้านระบบบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค แพทย์แผนไทยและศูนย์กลางด้านการแพทย์ การคลังสุขภาพและระบบหลักประกันสุขภาพ รวมถึงด้านการอภิบาลระบบสุขภาพแล้ว ยังมีวาระการปฏิรูประบบสารสนเทศสุขภาพ (e-Health) อีกด้วย

นพ.นวนรรน กล่าวว่า แผนปฏิรูปดังกล่าวคือการสนับสนุนให้เกิดระบบ Personal Health Record: PHR ขึ้น ซึ่งความหมายหนึ่งคือระบบข้อมูลที่คนไข้เข้าถึงเองได้ และอีกความหมายหนึ่งคือระบบ Health Information Exchange: HIE การแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพคนไข้ระหว่างสถานพยาบาล ซึ่งเรียกรวมๆว่า PHR

นพ.นวนรรน กล่าวว่า ภาพของระบบที่จะเปลี่ยนไปหากมีการใช้ PHR คือ ไม่ว่าคนไข้จะไปรักษาที่ไหน โรงพยาบาลอะไร จะมีข้อมูลประวัติการรักษาต่างๆ แบบ single record ซึ่งคล่องตัวกว่าการใช้กระดาษเวชระเบียน คนไข้ไม่ต้องไปวิ่งรอกขอประวัติจากโรงพยบาลหนึ่งมาส่งให้อีกโรงพยาบาลหนึ่ง และบางครั้งก็อ่านไม่ออก ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อคนไข้

“ยกตัวอย่างเช่น ผมทำงานที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ประวัติการรักษาก็อยู่ที่รามาฯ ถ้าผมกลับบ้านไป จ.ภูเก็ต แล้วเกิดอุบัติเหตุหมดสติ ต้องเข้ารับบริการในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง สมมติผมมีประวัติแพ้ยา โรงพยาบาลก็ไม่รู้ว่าผมมีประวัติแพ้ยาอะไร แล้วถ้าขณะรักษาเขาให้ยานี้ ผมอาจตายจากการรักษาก็ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดใคร เพียงแต่ระบบมันไม่เอื้อ คำถามคือเราจะออกแบบระบบให้ดีขึ้นได้อย่างไร ให้ข้อมูลเหล่านี้มันไหลจากโรงพยาบาลหนึ่งไปอีกโรงพยาบาลหนึ่ง แล้วประโยชน์จะตกอยู่กับคุณภาพการรักษาและความปลอดภัยของคนไข้เอง” นพ.นวนรรน กล่าว

นพ.นวนรรน ยกตัวอย่างอีก ในกรณีการ refer ผู้ป่วย ทุกวันนี้มีกระดาษแผ่นเดียวที่ต้องนำติดตัวไป และกระดาษก็เขียนรายละเอียดได้ไม่มาก ยิ่งถ้าลายมือหมออ่านยากก็จะได้ข้อมูลไม่ครบ คำถามคือจะทำให้ระบบ refer ให้ง่ายขึ้นได้อย่างไร ปัจจุบันมีซอฟต์แวร์สำหรับ refer อยู่บ้างแต่ไม่บูรณาการร่วมกัน แปลว่าโรงพยาบาลที่รับและส่งตัว ต้องใช้ซอฟต์แวร์ตัวเดียวกัน ถึงคุยกันรู้เรื่อง แต่ถ้าให้โรงพยาบาลทั่วประเทศใช้ซอฟต์แวร์เดียวกัน เป็นไปได้ยากมาก แต่หากตั้งมาตรฐานกลางขึ้นมา ไม่ว่าจะใช้ซอฟต์แวร์อะไรก็จะคุยกันรู้เรื่อง แลกเปลี่ยนข้อมูลกันรู้เรื่องหมดเป็นต้น

เช่นเดียวกับในมุมผู้ป่วยเอง ก็อยากได้ข้อมูลจากโรงพยาบาล เช่น ผลแล็บเป็นอย่างไร ได้ยาอะไร ยามีผลข้างเคียงอะไร ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้คนไข้เกิดความสนใจในการดูแลตัวเองมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นพ.นวนรรน เสนอว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ควรพิจารณาเรื่องการจัดตั้งหน่วยงานกลางของรัฐบาลที่ทำหน้าที่อภิบาลระบบ e-Health เนื่องจากโรงพยาบาลในปัจจุบันมีทั้ง สังกัด สธ. โรงเรียนแพทย์ สังกัดทหาร รวมทั้ง โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งการจะแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ ต้องมีมาตรฐานกลางระดับชาติ แต่โดยโครงสร้าง สธ.ไม่สามารถสั่งการให้เกิดขึ้นได้ จึงจำเป็นต้องมีกลไกบางอย่างในการพาทุกภาคส่วนมานั่งคุยกัน ก็คือหน่วยงานกลางดังกล่าว

“โครงสร้างนี้ อาจเป็นหน่วยงานกึ่งอิสระแบบเดียวกับ สพฉ. สวรส. สปสช.ที่มีกฎหมายเป็นของตัวเอง แต่นี่ไม่ใช่เรื่องของตระกูล ส. แต่เป็นเพราะโรงพยาบาลมันมีอยู่ทุกสังกัด จึงต้องคุยกันข้ามกระทรวง” นพ.นวนรรน กล่าว

นพ.นวนรรน กล่าวย้ำว่า ในส่วนของแผนจัดตั้งหน่วยงานกลางด้าน e-Health เข้าใจว่าอยู่ในเฟส 2 ของแผนปฏิรูป แต่ยังไม่แน่ใจว่าระดับนโยบายของ สธ. เข้าใจถึงความสำคัญของหน่วยงานนี้มากแค่ไหน แต่ในฐานะนักวิชาการก็หวังให้เกิดองค์กรนี้ขึ้นมาเสียที

“เรารอมาเป็นสิบปีหวังให้มีองค์กรนี้เกิดขึ้น รัฐบาลในอดีตไม่ค่อยเข้าใจปัญหาเหล่านี้นักและมันเป็นเรื่องระยะยาว จึงไม่เห็นความจำเป็นเร่งด่วนต้องทำ แต่รัฐบาลในภาวะพิเศษนี้ ก็ทำให้มีความหวังในการปฏิรูป ในความเห็นผม ถ้าทำเฉพาะ PHR มันจะไม่ยั่งยืน มันอาจจะได้แค่บางส่วน ได้แค่โรงพบาบาลที่มีความพร้อมกลุ่มหนึ่ง แต่มันจะไม่ไปพร้อมกันทั้งประเทศ” นพ.นวนรรน กล่าว