ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิตแจงข้อมูลสถานการณ์ปัญหาฆ่าตัวตายในประเทศไทย ระบุประเทศไทยถูกจัดอยู่อันดับ 57 ของโลก ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด คนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายราว 4,000 รายต่อปี หรือกว่า 300 รายต่อเดือน อัตราเฉลี่ยจะอยู่ที่ 6 รายต่อประชากร 1 แสนคน

จากสถานการณ์การฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นในระยะนี้ เป็นที่สนใจของสื่อมวลชนจำนวนมาก กรมสุขภาพจิต จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาการฆ่าตัวตาย ดังนี้

1.สถานการณ์ปัญหาการฆ่าตัวตายในระดับโลก

1.1 การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในทั่วโลก จำนวนกว่า 800,000 คนต่อปี หรือ 11.69 ต่อประชากรแสนคน คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.5 ล้านคนในปี พ.ศ.2563 โดยมีคนพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 20 เท่าตัว

1.2 การเปรียบเทียบอัตราการฆ่าตัวตายระดับโลก นั้น การเปรียบเทียบระหว่างประเทศ สามารถทำได้ยากเนื่องจากวิธีการบันทึกข้อมูลสาเหตุการตายของแต่ละประเทศมีคุณภาพไม่เท่ากันและบางประเทศไม่มีการรายงาน อย่างไรก็ตาม สามารถอ้างอิงข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ปี ค.ศ. 2012 (พ.ศ.2555) ได้ ดังนี้ Top 10 ประกอบด้วย

1.กายอานา (Guyana) อัตราการฆ่าตัวตาย 44.2 ต่อประชากรแสนคน

2.เกาหลีใต้ (Republic of Korea) อัตราการฆ่าตัวตาย 28.9 ต่อประชากรแสนคน

3.ศรีลังกา (Sri Lanka) อัตราการตัวตาย 28.8 ต่อประชากรแสนคน

4.ลิทัวเนีย (Lithuania) อัตราการตัวตาย 28.2 ต่อประชากรแสนคน

5.ซูรินาม (Suriname) อัตราการฆ่าตัวตาย 27.8 ต่อประชากรแสนคน

6.โมซัมบิก (Mozambique) อัตราการฆ่าตัวตาย 27.4 ต่อประชากรแสนคน

7.เนปาล (Nepal) อัตราการฆ่าตัวตาย 24.9 ต่อประชากรแสนคน

8.แทนซาเนีย (United Republic of Tanzania) อัตราการฆ่าตัวตาย 24.9 ต่อประชากรแสนคน

9.คาซัคสถาน (Kazakhstan) อัตราการฆ่าตัวตาย 23.8 ต่อประชากรแสนคน

10.บุรุนดี (Burandi) อัตราการฆ่าตัวตาย 23.1 ต่อประชากรแสนคน

*** ประเทศไทย ถูกจัดให้อยู่ อันดับที่ 57***

2.สถานการณ์ปัญหาการฆ่าตัวตายของประเทศไทย

2.1 คนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายราว 4,000 รายต่อปี หรือกว่า 300 รายต่อเดือน อัตราเฉลี่ยจะอยู่ที่ 6 รายต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

2.2 จากการทบทวนสถานการณ์ปัญหาการฆ่าตัวตาย โดย กลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตร่วมกับทีมวิชาการจาก รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ พบว่า ในปี 2557 และ 2558 ช่วงเดือนมีนาคมจะมีแนวโน้มทั้งการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย และมีจำนวนการฆ่าตัวตายสูงจริง ทั้ง 2 กรณี เช่นเดียวกับแนวโน้มสถานการณ์ในปี 2558 -2559

2.3 รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ได้มีการศึกษาวิจัย โดยการสุ่มตัวอย่าง กรณีฆ่าตัวตายสำเร็จ ใน 14 จังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง ปี 2557 และ ปี 2558  ที่แม้ยังไม่ได้รายงานผลการวิจัยอย่างเป็นทางการ แต่ผลการศึกษาเบื้องต้นพบปัจจัยที่สำคัญ คือ เพศชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าเพศหญิง (ชาย ร้อยละ 77 หญิง ร้อยละ 23) ส่วนใหญ่ อายุ 30-50 ปี  เป็นเกษตรกรและผู้ใช้แรงงานถึง ร้อยละ 70

2.4 เกือบ 1 ใน 4 (ร้อยละ 23) เคยทำร้ายตนเองมาก่อน ขณะที่ ร้อยละ 3 มีการทำร้ายผู้อื่นด้วย ใช้วิธีแขวนคอมากที่สุด ร้อยละ 70 รองลงมา คือ กินสารเคมี โดยเฉพาะ ยาฆ่าแมลง ร้อยละ 20 และ ประมาณ ร้อยละ 10 ใช้อาวุธปืน

2.5 ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความสัมพันธ์ และปัญหาการเจ็บป่วยเรื้อรัง

- ปัญหาความสัมพันธ์ เป็นเรื่องสัมพันธภาพภายในครอบครัว ร้อยละ 47 ความรัก ร้อยละ 22

- ปัญหาการเจ็บป่วย เป็นเรื่องโรคเรื้อรัง ร้อยละ 15 สุรา ร้อยละ 26 โรคจิต ร้อยละ 16 ซึมเศร้า ร้อยละ 9

3.มาตรการ/แนวทางป้องกัน ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม

3.1 ครอบครัว ชุมชน และสังคม ร่วมดูแลกันอย่างใกล้ชิด สังเกตสัญญาณเตือนการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาสุรา ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีลักษณะซึมเศร้า และผู้ที่เคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน ซึ่งไม่ควรปล่อยให้อยู่ตามลำพัง อย่าคิดว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ

3.2 ร่วมกันเฝ้าระวัง ป้องกัน รณรงค์สื่อสารสร้างความเข้าใจ เตือนสติ และให้กำลังใจกัน โดยควรเริ่มตั้งแต่ช่วงนี้ เป็นต้นไป เนื่องจากพบว่า การฆ่าตัวตายมีแนวโน้มสูงขึ้นในเดือนมีนาคมของแต่ละปี

3.3 ผู้ที่มีปัญหาชีวิตหรือวิตกกังวลจนเกิดความเครียดให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ หรือขอรับบริการปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง