ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กมธ.สาธารณสุข สนช. เตรียมเคาะ “ต่ออายุใบประกอบวิชาชีพหมอฟัน” สัปดาห์หน้า หลังรับฟังความเห็นรอบด้าน ทั้งกลุ่มสนับสนุนและคัดค้าน เผยมี 2 แนวทาง คือ ให้หมอฟันที่ได้รับใบอนุญาตต่ออายุ หรือให้ต่ออายุเฉพาะหมอฟันใหม่ที่สอบใบอนุญาติ โดย กม.ไม่มีผลย้อนหลัง ด้าน นายกทันตแพทยสภา เผย ทันตแพทยสภาเตรียมพร้อมดำเนินการตาม ไม่ว่าผลพิจารณาออกมาอย่างไร  

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. ... ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กมธ.สาธารณสุข ว่า ที่ผ่านมาทางกรรมาธิการได้มีการรับฟังความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาเพื่อรับฟังความเห็น โดยสาระสำคัญอยู่ที่การต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรม จากที่แต่เดิมเป็นใบอนุญาตตลอดชีพ ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้าน อย่างไรก็ตามทาง กมธ.สาธารณสุข จะรีบสรุปในเร็วๆ นี้ โดยคาดว่าในการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม ในวันที่ 9 มีนาคม นี้ คงจะได้ข้อสรุปในเรื่องนี้แล้ว 

“เรื่องการต่ออายุใบอนุญาต ประเด็นนี้ กมธ.สาธารณสุข พยายามรับฟังความเห็นให้รอบด้านมากที่สุด เพราะทราบว่าเป็นประเด็นที่มีความขัดแย้งมาก ซึ่งคงมีทางเลือก 2 ทาง คือ 1.ให้ทันตแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแล้ว ต้องมีการต่ออายุใบประกอบวิชาชีพ และ 2.ให้ต่ออายุใบประกอบวิชาชีพเฉพาะทันตแพทย์ใหม่ที่สอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยให้กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ที่เป็นไปตาม พ.ร.บ.เภสัชกรรม พ.ศ. 2558” ประธาน กมธ.สาธาณสุข สนช.กล่าว

ด้าน ผศ.(พิเศษ) ทพ.ไพศาล กังวลกิจ กล่าวภายหลังการรับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกทันตแพทยสภาว่า ในเรื่องการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรมที่ให้มีการต่อใบอนุญาตใบประกอบวิชาชีพทันตกรรมนั้น คงยังให้ความเห็นไม่ได้เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กมธ.สาธารณสุข สนช. ทันตแพทยสภาคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ไม่ว่าผลการพิจารณาร่างกฎหมายจะออกมาอย่างไร ทันตแพทยสภาพร้อมที่จะดำเนินการต่อจากนี้

อย่างไรก็ตามปัจจุบันใบประกอบวิชาชีพทันตกรรมเป็นการให้ใบอนุญาตตลาดชีพ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีความเห็นจากรัฐบาล สนช. และกระทรวงสาธารณสุข ที่มองว่า การต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรมเป็นสิ่งที่ประชาคมโลกทั่วไปกำหนดให้มีการต่ออายุใบอนุญาต เพราะเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การพัฒนาวิชาชีพต่อไป จึงนำมาสู่การเสนอแก้ไขกฎหมาย และเท่าที่เห็นร่าง พ.ร.บ. ได้มีการเสนอให้ต่ออายุใบประกอบวิชาชีพทันตกรรมทุก 5 ปี

“เรื่องนี้ได้มีการขับเคลื่อนมาเป็น 10 ปีแล้ว และมีการนำเสนอแก้ไขกฎหมายในหลายสมัย แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา เนื่องจากมองว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนและยังมีกฎหมายอื่นสำคัญกว่า ทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังค้างอยู่ที่สภาเป็นเวลานาน แต่มาในรัฐบาลนี้คงเห็นถึงความจำเป็น จึงได้หยิบยกให้มีการพิจารณา” นายกทันตแพทยสภา กล่าว

ผศ.(พิเศษ) ทพ.ไพศาล กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม ไม่เกี่ยวกับกรณี ทพญ.ดลฤดี จำลองราษฎร์ อดีตอาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีประเด็นหนีทุนเรียนของรัฐบาล โดยกรณีของ ทพญ.ดลฤดี เป็นเรื่องจริยธรรม ซึ่งทันตแพทยสภาชุดที่แล้วได้มีมติกล่าวโทษจรรยาบรรณไปแล้ว และหลังจากนี้คงต้องดำเนินการตามกฎหมาย โดยทันตแพทยสภาจะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณากล่าวโทษและนำเสนอต่อที่ประชุมทันตแพทยสภาต่อไป