ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกของมหิดล ผ่านการทดสอบในคนระยะที่ 1 แล้ว คาดอีก 5 ปีวางจำหน่าย ชี้ใช้เทคนิคการผลิตต่างจากของบริษัทเอกชน ครอบคลุมไวรัสสายพันธุ์ย่อยมากกว่า และกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้นานกว่า

นพ.สุธี ยกส้าน (ที่ 2 จากซ้าย)

นพ.สุธี ยกส้าน หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยความคืบหน้าการผลิตวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกว่า ขณะนี้วัคซีนได้ผ่านการทดสอบระยะที่ 1 ซึ่งเป็นขั้นตอนการทดลองในประเทศออสเตรเลีย โดยฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มตัวอย่างจำนวนน้อยๆ แล้วและมีแนวโน้มที่ดี ต่อไประยะที่ 2 และ 3 จะกลับมาทดลองในไทย โดยฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มตัวอย่างในจำนวนที่มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เริ่มกระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่ประเทศญี่ปุ่นและอินเดียแล้ว คาดว่าอีก 5 ปี จะเริ่มวางจำหน่ายได้

นพ.สุธี กล่าวอีกว่า วัคซีนที่วิจัยโดยมหิดล จะแตกต่างจากวัคซีนของบริษัทเอกชนบางแห่ง โดยในส่วนที่คนไทยพัฒนาวิจัยขึ้นนั้น เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น ที่นำเชื้อมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลง วิธีการนี้จะทำให้ได้วัคซีนที่ครอบคลุมเชื้อไวรัสเดงกี่สายพันธุ์ย่อยต่างๆ ได้มาก โดยฉีด 1-2 เข็ม กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้นาน 5-10 ปี

ขณะที่วัคซีนของบริษัทเอกชนนั้น พัฒนาโดยวิธีการตัดต่อสายพันธุกรรม ซึ่งได้ผลครอบคลุมน้อยกว่า โดยอาจจะครอบคลุมประมาณ 60% ของสายพันธุ์ย่อย อีกทั้งต้องฉีด 3 เข็ม กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เพียง 2-3 ปี ทั้งยังแนะนำให้ฉีดกับเด็กอายุ 9 ขวบขึ้นไป ซึ่งเท่ากับว่าเด็กอายุน้อยกว่านั้นก็ไม่ได้รับวัคซีน

“วิธีพัฒนาวัคซีนแตกต่างกัน วัคซีนของบริษัทเอกชนไม่ได้ต่อยอดจากงานวิจัยของมหิดลแต่อย่างใด” นพ.สุธีกล่าว