ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทสภาเร่งผลักดันแก้ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม ให้ต่อใบอนุญาตหมอจบทุก 5-10 ปี มีผลเฉพาะหมอจบใหม่ ไม่มีผลย้อนหลัง พร้อมออกใบอนุญาตชั่วคราว 1 ปีให้หมอต่างชาติ เร่งกระบวนการพิจารณาข้อร้องเรียนจริยธรรมและมีอำนาจสั่งแบนหมอในระหว่างการสอบสวนได้ ส่วน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคนั้น เสนอแก้ไข ให้แพทย์ เป็น “ผู้ให้บริบาล” ไม่ใช่ “ผู้ให้บริการ” ซึ่งเท่ากับผู้ป่วยไม่ใช่ผู้บริโภค และแพทย์จะไม่รวมอยู่ในคดีผู้บริโภคอีกต่อไป

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตัวแทนคณะกรรมการแพทยสภาได้เข้าพบ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และนำเสนอร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม 2.ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค และ 3.ร่าง พ.ร.บ.เซลล์บำบัด เพื่อขอให้รัฐมนตรีผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับนั้น ในส่วนของ ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม มีการแก้ไขใน 4 ประเด็น คือ 1.แก้ไขขั้นตอนการสอบสวนและลงโทษในคดีจริยธรรมให้เร็วขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากที่ผ่านมาแพทยสภามักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้เวลาในการพิจารณายาวนาน

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สาเหตุที่ใช้เวลาพิจารณาข้อร้องเรียนนาน เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดกระบวนการไว้หลายขั้นตอน กล่าวคือ เมื่อมีการร้องเรียนก็ต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมเพื่อดูว่ามีมูลหรือไม่ หลังจากนั้นยังต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองก่อนเข้าสู่คณะกรรมการแพทยสภา และเมื่อคณะกรรมการแพทยสภาพิจารณาแล้ว ก็ยังต้องนำเรื่องเข้าคณะกรรมการสอบสวนอีกครั้งเพื่อกำหนดบทลงโทษ หากไม่ทำตามนี้ก็ถือว่าทำผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงแก้ไขร่างกฎหมายใหม่ ให้ใช้เวลาน้อยลงครึ่งหนึ่ง เมื่อพิจารณาข้อร้องเรียนเสร็จแล้วก็ให้กำหนดบทลงโทษเลย

2.แก้ไขให้แพทยสภามีอำนาจยุติการกระทำบางอย่างได้ เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อแพทย์กระทำผิด กว่าจะผ่านขั้นตอนการพิจารณาจริยธรรมก็ใช้เวลานาน 2-3 ปี และมักถูกต่อว่าว่าหมอทำผิดทำไมไม่ลงโทษสักที ซึ่งกรณีเช่นนี้แพทยสภาไม่สามารถสั่งให้ยุติการกระทำได้จนกว่าจะพิจารณาจริยธรรมเสร็จ ดังนั้นจึงต้องแก้ไขกฎหมาย ให้มีอำนาจสั่งให้ยุติการกระทำชั่วคราวได้ในระหว่างการสอบสวน หากสอบสวนแล้วไม่ผิดก็กลับมารักษาต่อไปได้

3.แก้ไขให้มีการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมทุกๆ 5-10 ปี จากเดิมที่เป็นใบอนุญาตตลอดชีพ โดยใช้กับแพทย์รุ่นใหม่ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา แต่จะไม่รวมไปถึงแพทย์ที่มีใบอนุญาตอยู่ก่อนแล้ว เหตุผลก็คือต้องการให้แพทย์ปรับปรุงองค์ความรู้ให้ทันสมัยตลอดเวลา และจะได้อัพเดทสถานะว่ายังมีอาชีพเป็นแพทย์รักษาคนหรือไปประกอบวิชาชีพอื่นแล้ว

“สมมติเด็กจบใหม่ก็ได้ใบอนุญาต 5 หรือ 10 ปี เมื่อหมดอายุก็มาต่อใหม่ ถ้าไม่มาต่อก็รักษาคนไข้ไม่ได้ โดยเราจะมีเกณฑ์การประเมินว่าจะต่อใบอนุญาตให้หรือไม่ หมอจะได้อัพเดทความรู้ตลอดเวลา ส่วนคนที่มีใบอนุญาตอยู่แล้ว เราจะไม่ไปรอนสิทธิ เหมือนใบขับขี่ตลอดชีพ ใครมีก็ต้องมีต่อไป” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

และ 4.แก้ไขให้ออกใบอนุญาตชั่วคราว อายุ 1 ปี แก่แพทย์ชาวต่างชาติได้ เนื่องจากต้องการดึงตัวแพทย์ที่เก่งๆ ให้มารักษาและสอนในไทยได้ วิธีนี้จะทำให้หมอจำนวนมากได้เรียนรู้กับคนเก่งๆ โดยตรง โดยไม่ต้องส่งไปเรียนถึงเมืองนอก

ขณะที่ในส่วนของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคนั้น ได้เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมว่าแพทย์ เป็น “ผู้ให้บริบาล” ไม่ใช่ “ผู้ให้บริการ” ซึ่งเท่ากับผู้ป่วยไม่ใช่ผู้บริโภค และแพทย์จะไม่รวมอยู่ในคดีผู้บริโภคอีกต่อไป หลักการนี้เป็นสากล ไม่มีประเทศไหนให้เรื่องการแพทย์เป็นคดีผู้บริโภคแบบไทย บางประเทศถึงกับออกกฎหมายว่าในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินห้ามฟ้องทางแพ่งกับผู้ให้การช่วยเหลือด้วยซ้ำเพราะไม่เช่นนั้นจะไม่มีใครกล้าช่วยเลย ขณะที่ประเทศไทยทุกวันนี้เห็นได้ชัดเจนว่าหมอไม่กล้ารักษาและส่งต่อไปโรงพยาบาลอื่นหมด ดังนั้นวิธีนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพราะทำให้หมอกล้ารักษามากขึ้

นอกจากนี้ ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.เซลล์บำบัด จะเกี่ยวกับการกำกับดูแลสเต็มเซลล์ โดยใช้มาตรฐานเดียวกับของสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดียังมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาอีกมาก เช่น ถ้าทำแล้วไม่ก่อให้เกิดอันตรายก็ให้ทำได้เลย แต่หากไม่เกิดอันตรายก็จริงแต่เป็นการหลอกลวงประชาชนให้จ่ายเงินโดยไม่ได้ผล ก็ต้องควบคุมเช่นกัน

“สเต็มเซลล์เป็นเรื่องใหม่และยังไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งในส่วนของแพทยสภาก็มีเพียงข้อกำหนด และคุมได้แต่หมอ ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง” นพ.สมศักดิ์ กล่าว