ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เผยโรงพยาบาลในพื้นที่ภัยแล้งให้บริการได้ตามปกติ ไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ ให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวัง ให้ความรู้ประชาชนดูแลสุขภาพกายและจิตใจ การป้องกันโรคติดต่อที่พบบ่อยในช่วงหน้าร้อน โรคลมแดดและลมร้อน หากรู้สึกเครียด ให้โทรปรึกษา 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวการรับมือภัยแล้งด้านการแพทย์และสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ฤดูร้อนปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าอุณหภูมิจะสูงสุดในช่วงกลางมีนาคม-เมษายน ประมาณ 43-44 องศาเซลเซียส รายงานสถานการณ์ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ณ วันที่ 1 มีนาคม 2559 ยังคงมีพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง รวม 12 จังหวัด 47 อำเภอ 217 ตำบล 1,902 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ

กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน มีโรงพยาบาล (รพ.) ที่ได้รับผลกระทบ 3 แห่ง ปัจจุบันสามารถให้บริการประชาชนได้ตามปกติ และมีการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดย รพ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ได้ขุดบ่อน้ำบาดาล และเตรียมจัดทำประปาผิวดิน รพ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น ประสานขนน้ำจากประปาภูมิภาคหนองเรือ อ.ภูเวียง มาเติมที่ถังประปาของ รพ.ทุกวัน อยู่ระหว่างหาแหล่งน้ำบาดาลและขอขยายขอบเขตการให้บริการน้ำประปา ส่วน รพ.พระทองคำเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นครราชสีมา ขุดบ่อน้ำบาดาล 2 บ่อ อยู่ระหว่างจัดทำระบบกรองน้ำบาดาลเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำให้สามารถใช้ล้างเครื่องมือแพทย์ได้ และระบบสำรองน้ำไว้ใช้ในโรงพยาบาล ทั้งนี้ ได้กำชับให้โรงพยาบาลในพื้นที่ภัยแล้งทุกแห่ง เตรียมเก็บกักน้ำสำรองสำหรับให้บริการประชาชนและเจ้าหน้าที่ หากต้องการการสนับสนุนสามารถประสานมายังวอร์รูมได้ทุกวัน

นอกจากนี้ ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง สุ่มตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาในโรงพยาบาล โรงเรียน และสถานบริการสาธารณะอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการดูแลสุขภาพ และป้องกันโรคที่พบบ่อยในช่วงหน้าร้อน เช่น โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โรคลมแดดและลมร้อน เด็กจมน้ำ ปัญหาความเครียด และการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่นความสะอาดของตลาดสด ร้านอาหาร การกำจัดขยะ เป็นต้น 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคในช่วงหน้าร้อนที่พบมากที่สุดคือ โรคติดต่อทางน้ำและอาหาร 5 โรค ได้แก่ อุจจาระร่วง อหิวาต์ อาหารเป็นพิษ ไทฟอยด์ และบิด ในปี 2558 มีผู้ป่วย 1,232,085 ราย เสียชีวิต 14 ราย จำนวนผู้ป่วยจะ เริ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายนไปสูงสุดในเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคมของทุกปี นอกจากนี้ยังพบโรคลมแดดและลมร้อน ปีที่ผ่านมาพบเสียชีวิต 41 ราย ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง ส่วนมากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือมีโรคประจำตัว แล้วออกไปทำงาน ทำกิจกรรมกลางแจ้งในขณะอากาศร้อน นอกจากนี้ ยังพบผู้จมน้ำเสียชีวิต 115 ราย ร้อยละ 84 เกิดเหตุในเดือนมีนาคมและเมษายน เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจมน้ำเสียชีวิตสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 66 ส่วนโรคพิษสุนัขบ้า รอบ 5 ปีที่ผ่านมาแนวโน้มคงที่ ในปี 2558 มีผู้เสียชีวิต 5 ราย เนื่องจากไม่ล้างทำความสะอาดแผล และไม่ฉีดวัคซีนหลังจากถูกสุนัขหรือแมวกัด ข่วน เพราะคิดว่าไม่น่าจะเป็นอันตราย จนเกิดอาการและเสียชีวิตในที่สุด  

ขอแนะนำประชาชนให้ดูแลสุขภาพ ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ กินอาหารปรุงสุก ไม่เกิน 4 ชั่วโมงหลังปรุง ระมัดระวังความสะอาดของอาหาร น้ำดื่ม และน้ำแข็ง ไม่ควรออกกำลังกายหรือทำงานกลางแดดเป็นเวลานานและดื่มน้ำให้เพียงพอ ป้องกันโรคลมแดดและลมร้อน นำสัตว์เลี้ยงเช่นสุนัข แมวไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากถูกสุนัข แมวหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆครั้ง และไปโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที

นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ได้สุ่มตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาและน้ำดื่มในโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ และจุดแจกจ่ายน้ำในพื้นที่ภัยแล้ง เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ปลอดภัยในการอุปโภค บริโภค  รวมทั้งประสานหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ดูแลความสะอาดของตลาดสด ซึ่งมีความเสี่ยงเป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรคหน้าร้อนได้ง่าย โดยให้ผู้ประกอบการล้างตลาดสดตามหลักสุขาภิบาลอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง แต่หากมีโรคระบาดเกิดขึ้นควรล้างตลาดเดือนละ 2 – 3 ครั้ง เน้น 3 จุด คือ พื้น เขียง และแผง นอกจากนี้ ขอแนะนำวิธีการใช้ส้วมแบบประหยัดน้ำ โดยใช้ส้วมชนิดราดน้ำแทนชนิดชักโครก ซึ่งใช้น้ำเพียง 2-5 ลิตร หากใช้ส้วมแบบชักโครกที่มีถังบรรจุน้ำ ให้หย่อนขวดพลาสติกที่ใส่น้ำเต็มขวด 1-2 ขวด เพื่อให้พื้นที่บรรจุน้ำน้อยลง จะทำให้การชักโครกแต่ละครั้งจะใช้น้ำน้อยลง  

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ภาวะภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไม่สามารถทำนาทำสวนได้ ทำให้ขาดรายได้ เกิดปัญหาว่างงาน เกิดความเครียดตามมา สัญญาณความเครียด เช่น หงุดหงิด โกรธ รู้สึกผิด เศร้า เสียใจ สิ้นหวัง ท้อแท้ ไม่มีสมาธิ แยกตัว หนีสังคม ขัดแย้งกับผู้อื่นมากขึ้น ที่ควรระวังคือหากบ่นเรื่องหนี้สินและเปลี่ยนท่าทีเป็นพูดจาน้อยลง ซึม หรือบ่นท้อแท้ รู้สึกไม่ไหว ขอให้คนใกล้ชิดช่วยกันดูแล รับฟัง ปลอบโยนและให้กำลังใจ หากิจกรรมอื่นให้ทำ และขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หากพูดถึงการฆ่าตัวตายหรือปรึกษาวิธีฆ่าตัวตาย ให้รีบพาไปโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้านโดยเร็ว ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีระบบการดูแลส่งต่อที่ดีอยู่แล้ว

ที่สำคัญ คือ ขอแนะให้อาศัยระบบชุมชนที่เข้มแข็งร่วมเผชิญวิกฤตให้ผ่านพ้นไปด้วยกัน โดยควรมีการรวมกลุ่มกันเพื่อแก้ไขปัญหา หาทางออก ไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ด้วยดี

วิธีการผ่อนคลายความเครียดง่ายๆ เช่น การอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ร้องเพลง เล่นดนตรี สวดมนต์ นอนหลับพักผ่อน เป็นต้น หรือใช้เทคนิคเฉพาะในการผ่อนคลายความเครียด เช่น การฝึกสติรับรู้ลมหายใจ การฝึกหายใจคลายเครียดโดยสูดลมหายใจเข้า-ออกอย่างช้าๆ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เช่น การกำมือ เกร็งแขนแล้วคลาย การเลิกคิ้วสูงแล้วคลาย ขมวดคิ้วแล้วคลาย การก้มหน้าให้คางจดคอแล้วคลาย เงยหน้าจนสุดแล้วคลาย หรืออาจใช้เทคนิคการกดจุดคลายเครียด เช่น จุดกลางระหว่างคิ้ว ใต้หัวคิ้ว ต้นคอ หรือ บ่า เป็นต้น

นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า ช่วงอากาศร้อน แนะนำให้รับประทานอาหารพืชผักที่มีรสขม รสเย็น เช่น มะระทรงเครื่องช่วยดับร้อน ถอนพิษไข้ แก้กระหาย บรรเทาอาการร้อนใน แก้อักเสบ เจ็บคอ แกงเลียงผักร้อนๆ ช่วยขับเหงื่อ ให้ร่างกายเบาสบาย หรือแกงจืดเช่นฟักเขียว ตำลึง มะระยัดไส้ สำหรับของหวานคลายร้อน แนะนำเฉาก๊วยในน้ำเชื่อม กระท้อนลอยแก้วแช่เย็น ทำให้ชุ่มคอแก้กระหายน้ำได้ดี และน้ำสมุนไพรเช่น น้ำใบเตย น้ำตรีผลา น้ำตะไคร้ น้ำกระเจี๊ยบ กินผลไม้มีปริมาณน้ำสูง เช่นแตงโม มะละกอ แก้วมังกร เพิ่มความสดชื่น ชุ่มคอ นอกจากนี้ ในช่วงอากาศร้อนจัด อาจเป็นลม วิงเวียนศีรษะ แนะนำให้ใช้ยาหอม ซึ่งประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิด เพื่อปรับสมดุลร่างกาย 4 ชนิด ได้แก่ ยาหอมเทพจิตรใช้แก้ลม บำรุงหัวใจ ยาหอมทิพโอสถแก้ลมวิงเวียน ยาหอมอินทจักรและยาหอมนวโกศแก้คลื่นเหียน อาเจียน