ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เผย นโยบายให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีไม่จำกัดซีดีโฟ ประสบผลสำเร็จไม่เต็มร้อย ยังมีผู้ติดเชื้อเข้าไม่ถึง เหตุแพทย์ยังคงใช้วิจารณญาณให้ยาต้านไวรัส ไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์กำหนด หวั่นกระทบผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทั้งลดความเจ็บป่วยและป้องกันโรคฉวยโอกาส แนะ สปสช.จัดระบบตรวจสอบ ผู้ติดเชื้อต้องได้รับยาต้านไวรัสภายใน 3 เดือน หลังมีรายงานตรวจพบเชื้อ

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงนโยบายการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีกับผู้ติดเชื้อ โดยไม่จำกัดค่าซีดีโฟ (CD4) ว่า ภายหลังจากที่นโยบายนี้ได้มีการประกาศใช้มา 2 ปีแล้ว โดยกำหนดให้ยาต้านไวรัสกับผู้ติดเชื้อทุกคนที่มีการตรวจพบเชื้อเอชไอวี แต่ปรากฎว่าที่ผ่านมายังมีผู้ติดเชื้อส่วนหนึ่งที่ยังมีปัญหาการเข้าถึงยาต้านไวรัสอยู่ ทั้งนี้สาเหตุมาจากยังมีแพทย์ผู้ให้การรักษาบางส่วนยังคงใช้วิจารณาญาณในการให้ยาต้านไวรัสกับผู้ติดเชื้อเช่นเดิม โดยไม่ทำตามแนวทางปฏิบัติที่ต้องให้ยาต้านไวรัสกับผู้ป่วยทุกรายที่ตรวจพบเชื้อ ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนด ตามที่กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญคลินิก ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ได้ร่วมกันพัฒนาแนวทางการตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งมักอ้าวว่าไม่เห็นประกาศหรือแนวทางปฏิบัติของ สปสช. ทำให้เป็นปัญหาทั้งในกลุ่มผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และผู้ติดเชื้อในระบบประกันสังคม ทั้งที่ควรรับยาต้านไวรัสตั้งแต่แรกเริ่มทันที เพื่อลดความเจ็บป่วยและป้องกันโรคฉวยโอกาสที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดอักเสบ และวัณโรค เป็นต้น

“ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้มาจากทัศนะและมุมมองของแพทย์เกี่ยวกับการให้ยาต้านไวรัส ทั้งที่ตัวระบบโดย สปสช.ได้เปิดให้ผู้ป่วยสามารถรับยาต้านไวรัสหากตรวจพบเชื้อได้ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ได้มีผู้ติดเชื้อร้องเรียนต่อเนื่อง ทำให้มูลนิธิเข้าถึงเอดส์และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีต้องช่วยชี้แจง โดยนำประกาศหลักเกณฑ์การให้ยาต้านไวรัสไปประกอบการชี้แจง ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาต้านไวรัสโดยเร็ว ซึ่งจะเป็นผลดีกับตัวผู้ติดเชื้อเอง” ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า ไม่เพียงแต่ในแง่ของการรักษาเท่านั้น แต่การใช้ยาต้านไวรัสกับผู้ติดเชื้อโดยเร็วยังมีผลต่อการป้องกันการติดเชื้อได้ เพราะผู้ติดเชื้อเหล่านี้ต่างยังมีคู่ตนเองอยู่ ดังนั้นหากจำนวนเชื้อไวรัสที่ลดลง ย่อมส่งผลในแง่การป้องกันด้วย ขณะเดียวกันยังช่วยลดค่ารักษาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ยังไม่นับรวมกรณีของผู้เสพยาเสพติดที่ติดเชื้อเอชไอวีและไม่ได้รับยาต้านไวรัส เนื่องจากมีเงื่อนไขที่ต้องให้เลิกเสพยาก่อน

จากปัญหาการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอชไอวีที่เกิดขึ้นนี้ นายนิมิตร์ กล่าวว่า สะท้อนให้เห็นว่านโยบายที่ประเทศไทยได้ประกาศให้ยาต้านไวรัสกับผู้ติดเชื้อทุกคนโดยไม่จำกัดค่าซีดีโฟ ยังไม่ประสบความสำเร็จเต็ม 100% เพราะยังมีผู้ติดเชื้อที่ยังเข้าไม่ถึงยาต้านไวรัส โดยทางออกในเรื่องนี้ สปสช.ต้องมีระบบตรวจสอบการรับยาต้านไวรัส ภายหลังจากที่มีรายงานผู้ป่วยตรวจพบเชื้อเอชไอวี และหากภายใน 3 เดือนแล้ว ผู้ป่วยยังไม่ได้รับยาต้านไวรัสจะต้องมีการติดตาม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาต้านไวรัสโดยเร็ว โดยเป็นไปตามระบบที่วางไว้