ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

The Conversation: ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ ได้ประกาศเจตจำนงที่จะยกระดับสหรัฐอเมริกาให้เป็นประเทศที่สามารถ “รักษาโรคมะเร็งให้หายขาด” ระหว่างการแถลงนโยบายประจำปี 2559 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดีมองได้ว่าเป้าหมายของผู้นำสหรัฐฯ นั้นไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงและคิดตื้นเกินไป และจะไม่มีประเทศใดทำได้แม้แต่สหรัฐฯ เอง เพราะมะเร็งนั้นไม่ใช่โรคเดี่ยวหากแต่เป็นกลุ่มโรคที่แตกต่างกันกว่า 100 ชนิด จึงทำให้ไม่มีการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะได้ผลดีเสมอไป  

นโยบายพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดของประธานาธิบดีโอบามา “ไม่สะท้อนความเป็นจริง” และ “คิดตื้นเกินไป” ภาพประกอบโดย:  EPA/Evan Vucc

แน่นอนว่าการค้นคว้ายาใหม่ที่สามารถรักษามะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยที่มีผลข้างเคียงต่ำกว่าจะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง แต่แทนที่จะเพ้อฝันไปถึงการรักษามะเร็งให้หายขาดนั้น ก็ควรที่แต่ละประเทศจะต้องเพิ่มการลงทุนเพื่อเสาะหากระบวนการใหม่ที่จะช่วยให้ตรวจพบมะเร็งได้ตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึงมาตรการรณรงค์เสริมสร้างความตระหนักเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใส่ใจสุขภาพมากขึ้น

อย่างไรจึงเรียกว่าหายขาด

อันดับแรกต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ความสำเร็จในระดับนี้ไม่มีประเทศใดสามารถทำได้โดยลำพัง มะเร็งนั้นเกิดได้ทั่วโลกโดยไม่แยแสเรื่องเส้นพรมแดน ขณะเดียวกันการศึกษาวิจัยสำหรับพัฒนาการรักษาใหม่ก็ต้องอาศัยโครงการความร่วมมือในระดับโลก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนทั้งในด้านการศึกษาวิจัยและงบประมาณ

ประการต่อมาต้องยอมรับว่า วลี “การรักษามะเร็งให้หายขาด” เป็นเรื่องไร้สาระเพราะมีคนที่เข้าใจความหมายที่แท้จริงเพียงหยิบมือเท่านั้น ในข้อนี้อาจหมายถึงการกำจัดโรคอย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ ตัดตอนไม่ให้เกิดโรคตั้งแต่แรกในลักษณะเดียวกับที่เรากำจัดโรคฝีดาษ รวมถึงการพัฒนายาตัวใดตัวหนึ่งซึ่งสามารถรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพในผู้ป่วยมะเร็งทุกราย โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการผ่าตัดหรือฉายแสง

อย่างไรก็ดีนิยามทั้ง 2 ข้อต่างก็ไม่ตั้งอยู่พื้นฐานความเป็นจริง    

และเมื่อพิจารณาที่ตัวโรคมะเร็งก็จะเห็นว่า ไม่มีผู้ป่วยที่สามารถรักษาให้หายขาดในลักษณะเดียวกับการรักษาโรคอื่น  เช่น การติดเชื้อ     

นอกจากนี้ภายหลังการรักษาก็ยังอาจมีเซลล์มะเร็งตกค้างอยู่และอาจเกิดมะเร็งเป็นซ้ำขึ้นอีกครั้ง น่าเศร้าที่ผู้ป่วยยังอาจเกิดมะเร็งตัวใหม่ หรือที่แย่กว่านั้นคือเกิดมะเร็งตัวใหม่อันเป็นผลจากเคมีบำบัดที่ได้รับจากการรักษามะเร็งตัวแรก ด้วยเหตุนี้แพทย์จะไม่ใช้คำว่า “หายขาด” แต่เลี่ยงด้วยการประเมินผลการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่งจากอัตราการรอดชีวิตที่ระยะ 5 ปี อันเป็นค่าร้อยละของผู้ป่วยที่มีชีวิตรอดถึง 5 ปีภายหลังตรวจพบมะเร็ง

เราได้เห็นความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญในด้านการรักษาโรคมะเร็งในช่วงไม่กี่ 10 ปีที่ผ่านมา ดังที่อัตราการอยู่รอดจนถึง 5 ปีในทุกวันนี้อยู่ที่ราวร้อยละ 70 เทียบกับตัวเลขราวร้อยละ 30 ในช่วงคริสตทศวรรษที่ 70

ในอีกทางหนึ่งการรักษาให้หายขาดที่เราพยายามตามหากันอยู่ แท้จริงแล้วจึงเป็นการเพิ่มอัตราการรอดชีวิตระยะยาวให้คืบเข้าใกล้ตัวเลข 100% เต็มให้มากที่สุดนั่นเอง

เหตุใดจึงไม่สามารถรักษามะเร็งให้หายขาด

ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งของเราก้าวหน้าขึ้นมากจากเมื่อ 100 ปีก่อนที่เรายังคิดว่ามะเร็งเกิดจากการบาดเจ็บและเป็นโรคติดเชื้อ ถึงตอนนี้เราเริ่มมีข้อมูลประจักษ์ชัดเกี่ยวกับโรคมะเร็งบ้างแล้ว โดยรู้ว่า “ฮิวแมนพาพิลโลมาไวรัส” เป็นสาเหตุใหญ่ของโรคมะเร็งปากมดลูก และการสูบบุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งปอด ขณะเดียวกันก็ รู้แล้วว่าภาวะน้ำหนักเกินและโภชนาการที่แย่เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ 

ประการสำคัญที่สุดนั้น เราได้ค้นพบว่ามะเร็งหลายชนิดที่เคยคิดว่าเหมือนกันนั้น แท้จริงแล้วกลับต่างกันโดยสิ้นเชิง   

ที่ผ่านมาแพทย์มักจำแนกมะเร็งจากตำแหน่งของอวัยวะที่พบโรค เช่น มะเร็งเต้านม หรือปอด แต่ถึงวันนี้ก็ทราบกันแล้วว่าแนวทางนี้ทำให้เกิดข้อบกพร่องทั้งในด้านการวินิจฉัยและรักษามะเร็ง เนื่องจากมะเร็งที่เกิดในอวัยวะเดียวกันอาจจำแนกได้เป็นหลายกลุ่มย่อยและจำเป็นต้องอาศัยยาที่ต่างกันในการรักษา

มะเร็งเต้านมเป็นตัวอย่างชัดเจน ดังที่ปัจจุบันแพทย์จะใช้วิธีตรวจชิ้นเนื้อมะเร็งเต้านมเพื่อตรวจปัจจัยบ่งชี้จำเพาะ 3 ตัว   ซึ่งการพบหรือไม่พบปัจจัยบ่งชี้ดังกล่าวจะส่งผลต่อการวินิจฉัยว่า เป็นมะเร็งเต้านมชนิดใดชนิดหนึ่งจาก 8 ชนิด รวมถึงการพิจารณายารักษาที่จำเพาะตามปัจจัยบ่งชี้

ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่วัคซีนหรือยาตัวใดตัวหนึ่งจะได้ผลดีกับมะเร็งทุกชนิด เราทำได้ดีที่สุดเพียงพัฒนาวัคซีนและยาใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถึงอย่างไรก็ได้ผลดีเฉพาะกลุ่มย่อยของผู้ป่วยมะเร็งเท่านั้น และนั่นก็นำไปสู่คำถามว่า ‘แล้วเราจะก้าวต่อไปได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีทางรักษามะเร็งให้หายขาด?’

ตรวจพบมะเร็งตั้งแต่เริ่มแรก

เมื่อพิจารณาที่การรอดชีวิตในระยะยาวของผู้ป่วย จะเห็นได้ว่าปัจจัยสำคัญที่สุดนั้นไม่ได้อยู่ที่การรักษา หากขึ้นอยู่กับว่าตรวจพบมะเร็งได้เร็วเพียงใด ในทางปฏิบัติแล้วมะเร็งทุกชนิดล้วนแล้วแต่รักษาได้หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและตรวจพบก่อนที่จะเกิดการลุกลามไปยังตำแหน่งอื่นของร่างกาย

ดังนั้นนอกจากเราจะต้องไม่หยุดยั้งการพัฒนายาใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าแล้ว ก็สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาแนวทางการป้องกันและตรวจมะเร็งควบคู่กันไปด้วย   

โดยมีข้อมูลทางสถิติชี้ว่า มะเร็งเกือบร้อยละ 30  มีสาเหตุจากรูปแบบการดำเนินชีวิต และการปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยก็อาจลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนั่นก็รวมไปถึงการปรับปรุงอาหารการกินและหมั่นออกกำลังกาย ดื่มเหล้าให้น้อยลง งดสูบบุหรี่ และปกป้องตัวเองจากแสงแดด

เรายังต้องส่งเสริมให้ประชาชนตรวจสุขภาพเพื่อตรวจสัญญาเริ่มแรกของมะเร็ง เช่น ไฝบนผิวหนัง ก้อนในเต้านมหรืออัณฑะ เลือดออกโดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดหรือไอ โดยจะต้องบูรนาการแนวทางการตรวจโรคเข้าด้วยกัน เช่น การตรวจเลือดสำหรับมะเร็งต่อมลูกหมาก และการตรวจลมหายใจสำหรับมะเร็งเต้านม (breath tests that can detect breast cancer) ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสตรวจพบมะเร็งในระยะที่การรักษาปัจจุบัน (และการรักษาใหม่) ยังคงได้ผลดี

เกี่ยวกับผู้เขียน

ไนอัล วีท (Nial Wheate) อาจารย์อาวุโสจากคณะเภสัชกรรม จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์

ขอบคุณที่มา: www.theconversation.com จากเรื่อง Resolving to ‘cure cancer’, Obama promises the impossible

แปลและเรียบเรียงโดย: ภัทรภร นิภาพร pingni1997@gmail.com