ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผย สนช.ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. ... อยู่ระหว่างส่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดมีผลบังคับใช้ประมาณ ต.ค. 59 สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ 3 ประเภท สปา นวดเพื่อสุขภาพ และเสริมความงามทุกแห่ง ต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน ความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ห้ามโฆษณาที่มีลักษณะส่อไปในทางลามกอนาจารอย่างเด็ดขาด หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ชี้ในปี 2558 สปาไทยสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 31,000 ล้านบาท

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการเสนอร่าง พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. ...  หรือกฎหมายสปาของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ  ในการควบคุมมาตรฐาน คุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ 148 เสียง จากทั้งหมด 168 เสียง อยู่ในขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย พระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณเดือนตุลาคม 2559 หลังจากที่ใช้เวลาผลักดันมาเป็นเวลากว่า 5 ปี 

นพ.บุญเรือง กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ในการควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ สปา นวดเพื่อสุขภาพ เสริมความงามทั่วประเทศ ซึ่งเป็นกิจการด้านบริการที่สร้างงาน ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้รับบริการทั้งชาวไทยและต่างประเทศมายาวนาน และสร้างรายได้แก่ประเทศเป็นจำนวนมาก

ในปี 2558 ธุรกิจสปา นวดไทยและผลิตภัณฑ์สปาของไทย สร้างรายได้กว่า 31,000 ล้านบาท และมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นตามกระแสความนิยมเรื่องสุขภาพและความงาม โดยสถานประกอบการดังกล่าวต้องขึ้นทะเบียนกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ปฏิบัติตามกฎหมายและถูกต้องตามหลักวิชาการหรือวิชาชีพที่กำหนด เนื่องจากเป็นบริการที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ ร่างกาย หรือจิตใจผู้รับบริการ  ประการสำคัญจะเป็นการป้องกันมิให้มีบริการอื่นใดๆ แอบแฝงสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงประเทศไทย ล่าสุดในปี 2558 ไทยมีสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ได้รับรองมาตรฐานแล้วรวมทั้งหมด 1,609 แห่ง  ประกอบด้วยสปา 509 แห่ง นวด 1,070 แห่ง เสริมสวย 30 แห่ง  โดยอยู่ในภูมิภาค 1,265 แห่ง ที่เหลืออีก 344 แห่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร

สำหรับโครงสร้างกฎหมาย มีทั้งหมด 7 หมวด และบทเฉพาะกาล มี 49 มาตรา ใบอนุญาตผู้ประกอบการมีอายุ 5 ปี และต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปี ผู้ได้รับอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการต้องได้รับวุฒิบัตรหรือประกาศนียบัตรด้านการบริการเพื่อสุขภาพที่ได้รับการรับรองและผ่านการทดสอบประเมินความรู้ความสามารถจาก สบส. ต้องแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการอย่างเปิดเผยเห็นง่าย 

ทุกแห่งต้องควบคุมดูแลการบริการ ต้องจัดทำคู่มือปฏิบัติงานให้บริการ รวมถึงมีคู่มือการใช้อุปกรณ์ผลิตภัณฑ์ เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ให้ได้มาตรฐาน ถูกสุขลักษณะ และปลอดภัย โดยห้ามใช้ข้อความโฆษณาอันเป็นเท็จ หรือโอ้อวดเกินความเป็นจริงว่าสามารถบำบัดรักษาหรือป้องกันโรคได้ หรือใช้ถ้อยคำอื่นที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระการบริการ และห้ามโฆษณาที่มีลักษณะส่อไปในทางลามกอนาจารอย่างเด็ดขาด ต้องเป็นเขตปลอดบุหรี่ ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดทุกชนิด

นพ.บุญเรือง กล่าวต่อว่า ในเรื่องของบทลงโทษจะแตกต่างกันตามการกระทำผิด กรณีผิดด้านโฆษณา มีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท กรณีประกอบกิจการเถื่อน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากมีการลักลอบค้าประเวณี หรือมีการจำหน่ายหรือเสพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท