ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กองสวัสดิการรักษาพยาบาล กรมบัญชีกลางแจง รพ.พร้อมรับผู้ป่วยสวัสดิการข้าราชการ หลังเข้ารักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ รพ.เอกชนหลัง 72 ชม. สามารถส่งต่อไป รพ.รัฐได้ทุกแห่ง แต่หาก รพ.รัฐไม่มีเตียงรองรับ ต้องอยู่ รพ.เอกชนต่อ ให้เบิกได้เช่นเดียวกับกรณีฉุกเฉินไม่เร่งด่วน คือ ครึ่งหนึ่งไม่เกิน 8,000 บาท + ค่าห้อง + ค่าอุปกรณ์

Facebook สวัสดิการข้าราชการ ซึ่งเป็นช่องทางของกรมบัญชีกลางให้บริการให้คำปรึกษา แนะนำเกี่ยวกับสวัสดิการข้าราชการ ทาง FACEBOOK ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 เป็นต้นมา ได้ชี้แจงถึงข่าวการแก้ไขปัญหานโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน โดยระบุว่า กองสวัสดิการรักษาพยาบาลขอชี้แจงดังนี้

กรณีปัญหาการเบิกค่ารักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน (EMCO)ได้มีการหารือร่วมกันระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) และ 3 กองทุน มาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากที่ผ่านมามีการร้องขอจาก รพ.เอกชนว่าอัตราที่ได้รับชดเชยจากรัฐไม่เพียงพอ ซึ่งจากการหารือร่วมกัน สรุปประเด็น ดังนี้

- พิจารณาปรับอัตราการจ่ายชดเชย รพ.เอกชน ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ

- การส่งต่อผู้ป่วยเมื่อพ้นภาวะวิกฤต/เร่งด่วน (สีแดง/เหลือง) ซึ่งผู้ป่วยสิทธิประกันสังคม และสิทธิ 30 บาท (ระบบกองทุน) จะส่งกลับ รพ.หน้าบัตรได้ สำหรับผู้ป่วยสิทธิข้าราชการ โดยหลักสามารถเข้า รพ.รัฐได้ทุกแห่ง แต่กรณีต้องอยู่ รพ.เอกชนต่อ จะให้เบิกได้เช่นเดียวกับกรณีฉุกเฉินไม่เร่งด่วน (ครึ่งหนึ่งไม่เกิน 8,000 บาท + ค่าห้อง + ค่าอุปกรณ์)

- ในอนาคต ที่ประชุมเห็นว่า EMCO จะชดเชยเฉพาะกรณีวิกฤต (สีแดง) เท่านั้น เมื่อพ้นวิกฤต กองทุนเป็นผู้รับผิดชอบ

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ รมต.สธ.มอบให้ รองปลัด สธ.หาข้อยุติและพิจารณาแนวทางการแก้ไขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

กองสวัสดิการรักษาพยาบาลให้ข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นการหาทางออกกรณีสิทธิราชการไม่มี รพ.พร้อมรับหลัง 72 ชม.ว่า ผู้ป่วยสิทธิราชการสามารถเข้า รพ.รัฐได้ทุกแห่ง ไม่เหมือนสิทธิบัตรทองและประกันสังคมที่จะต้องมีโรงพยาบาลประจำตัว ดังนั้น การย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินหลัง 72 ชม.รพ.เอกชนสามารถส่งต่อไป รพ.รัฐได้ทุกแห่ง แต่หาก รพ.รัฐไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วย กองสวัสดิการฯ ได้หาทางออกโดยจะให้ผู้ป่วยอยู่ต่อ ณ รพ.เอกชนแห่งนั้นได้ และให้สิทธิเบิกค่ารักษาได้เช่นเดียวกับกรณีฉุกเฉินไม่รุนแรง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง