ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช.มีมติเคาะงบรายหัว 3,150.23 บาทต่อประชากร จากผู้มีสิทธิ์เกือบ 49 ล้านคน เสนอ ครม.พิจารณา ระบุเพิ่มขึ้น 121.29 บาทจากปี 59 รวมเป็นเงินกองทุน 171,772 ล้านบาท ที่รวมเงินเดือนบุคลากรหน่วยบริการ สธ. 42,551.73 ล้านบาท คงเหลืองบกองทุน 129,220.27 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องกรอบการจัดการงบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2560 และกรอบการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ สปสช.คนใหม่

ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบข้อเสนองบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2560 จำนวน 171,772 ล้านบาท ในจำนวนนี้รวมเงินเดือนบุคลากรของหน่วยบริการภาครัฐในระบบ 42,551.73 ล้านบาทด้วย จึงคงเหลือเป็นงบกองทุนที่ส่งให้ สปสช. 129,220.27 ล้านบาท และให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี ประธานกลุ่มภารกิจยุทธศาสตร์และประเมินผล สปสช. กล่าวถึงข้อเสนองบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2560 ว่า จำแนกตามรายการดังนี้

งบเหมาจ่ายรายหัวเสนอที่ 3,150.23 บาทต่อประชากร คิดจากประชากรที่มีสิทธิ์ 48.8029 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้น 121.29 บาทจากงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2559 ที่ได้รับ 3,028.94 บาทต่อประชากร

ค่าบริการนอกงบเหมาจ่ายรายหัว ดังนี้

ค่าบริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 3,122.408 ล้านบาท

ค่าบริการสาธารณสุขผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 7,842.02 ล้านบาท

ค่าบริการสาธารณสุขเพื่อควบคุมป้องกันโรคเรื้อรัง (เบาหวาน/ความดันโลหิตสูง รวมจิตเวชเรื้อรังในชุมชน) 960.41 ล้านบาท

ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย ประชากรน้อย และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 1,490.29 ล้านบาท

ค่าตอบแทนกำลังคนกระทรวงสาธารณสุข 3,000 ล้านบาท

ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 1,615.52 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในที่ประชุมได้มีการทักท้วงประเด็นเรื่องงบประมาณส่งเสริมป้องกันโรค ซึ่งอยู่ในส่วนหนึ่งของงบเหมาจ่ายรายหัว ที่ควรได้รับเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ลดลง เพื่อสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่เน้นการสร้างสุขภาพนำการซ่อมสุขภาพ

ทั้งนี้กรอบและแนวคิดการจัดทำข้อเสนองบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2560 ยึดตามแนวทางดังนี้

1.ยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ระยะ 20 ปี

2.นโยบาย รมว.สาธารณสุข และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

3.กรอบตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และผลการรับฟังความคิดเห็นในปี 2558

4.มติ ครม. ผลการตรวจสอบของหน่วยงานตรวจสอบต่างๆ และผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา

5.แนวคิดพื้นฐานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

6.กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2560-2564

กระบวนการในการจัดทำ หารือร่วมกับทีมวิชาการ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ทั้งส่วนกลางและเขต และคณะกรรมการร่วม สป.สธ.และ สปสช.หรือ 7x7 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) สำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และหน่วยบริการสังกัดอื่น