ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงการใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ 6 มีนาคม 2559 เร่งตั้งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ครั้งแรกของไทย

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2559 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค ประชุมมอบนโยบายด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อ และการดำเนินการในกรณีมีโรคติดต่อสำคัญตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 แก่ผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 230 คน

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า พระราชบัญญัติควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2559 มีสาระสำคัญเรื่องการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคที่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพประชาชน สอดคล้องกับกฎหมายนานาชาติและเชื่อมโยงความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน ประชาชน ให้สามารถจัดการภัยสุขภาพได้ทันการณ์ สร้างระบบเตรียมพร้อมรับมือกับโรคติดต่ออันตราย โรคติดต่ออุบัติใหม่ของโลก ลดความสูญเสียจากการเจ็บป่วยและผลกระทบด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพของคนไทย  

เรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการคือให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ ตั้งคณะทำงานประจำช่องทางเข้าออกด่านควบคุมโรค พร้อมทั้งสื่อสาร สร้างความเข้าใจกับหน่วยงานในจังหวัด และประชาชนเกี่ยวกับพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

ในส่วนของการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ประกอบด้วย 4 เรื่อง ได้แก่ 

1.เร่งรัดการกำจัดและกวาดล้างโรคที่เป็นพันธะสัญญากับนานาชาติ และโรคที่ไทยสามารถควบคุมได้ดีระดับหนึ่งแล้ว 7 โรค ได้แก่ โปลิโอ โรคหัด โรคพิษสุนัขบ้า เอดส์ โรคเรื้อน มาลาเรียและโรคเท้าช้าง 

2.พัฒนาระบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตรายที่ไม่มีในประเทศไทยอย่างเต็มที่ เพื่อลดโอกาสการระบาดในประเทศให้เหลือน้อยที่สุด เช่น โรคเมอร์ส อีโบลา 

3.ควบคุมโรคติดต่อประจำถิ่น 14 โรค เช่น โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โรคจากสัตว์สู่คน เป็นต้น ด้วยมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาวะประชาชนให้น้อยที่สุด

และ 4.ลดการตีตราหรือเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วยโรคติดต่อทุกชนิด

สำหรับการดำเนินงานมี 4 ระบบ คือ ระบบป้องกันโรค ระบบตรวจจับ ระบบควบคุมโรค และระบบสนับสนุนบริหารจัดการ ซึ่งจะต้องพัฒนาระบบงานควบคุมโรคตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ และวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลกอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาทุกจังหวัดให้สามารถดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยต่างๆ รวมทั้งโรคติดต่ออันตรายได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ