ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข้อเขียนจาก นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ที่ได้จากผลการวิจัยประเด็นการวางแผนเพื่อให้บริการด้านการควบคุมป้องกันโรคในเขตเมือง เพื่อรองรับกับสถานการณ์โรคติดต่อทั้งหลายที่มาพร้อมกับยุคโลกาภิวัตน์ โดยมี 2 ทางเลือกคือ การใช้หน่วยบริการปฐมภูมิเป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการ หรือจะใช้ รพ.เป็นกลไกหลัก ทั้งสองแนวทางข้างต้นนั้น นพ.ธีระระบุว่า ภายใต้สังคมโลกที่เปลี่ยนไปสู่ความเป็นเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ นี้ ทางเลือกต่างๆ ดังกล่าวแม้จะได้รับการนำไปพัฒนาเป็นนโยบาย และมาตรการได้จริง ก็อาจเป็นเพียงยาบรรเทาอาการ ที่ใช้ได้ผลเพียงระดับเดียว ดังนั้นสังคมเมืองยังจำเป็นต้องมีการพัฒนากลไกใหม่ในชุมชนนอกเหนือไปจากสถานพยาบาลระดับต่างๆ ให้มามีส่วนเอี่ยวในการช่วยเหลือ และดำเนินกิจกรรมควบคุมป้องกันโรค หรือความเสี่ยงทางสุขภาพที่เกิดขึ้นในอนาคต

นพ.ธีระ วรธนารัตน์

Spotlight เรื่องนโยบายควบคุมป้องกันโรคในประชาชนเขตเมือง

นึกอย่างไรไม่รู้เหมือนกัน ระหว่างที่ได้ดูหนังรางวัลออสการ์อยู่ และกำลังอินกับการที่ทีมสื่อมวลชนที่ชื่อว่า Spotlight ทำการสืบสวน หาหลักฐานที่จะทำการใหญ่ระดับโลก จู่ๆ ก็มีภาพของปัญหาสาธารณสุขในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสอดแทรกเข้ามาในสมองของผม

เราเห็นชัดเจนเหลือเกินว่า ในยุคโลกาภิวัตน์นี้การติดต่อสื่อสาร และเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างซีกโลกนั้นเป็นไปได้อย่างรวดเร็วเกินจินตนาการ

ทั้งนี้สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่ไปด้วยคือความเสี่ยงทางด้านสุขภาพของประชาชน ดังจะเห็นได้จากโรคระบาดต่างๆ เช่น ซาร์ส เมอร์ส ฯลฯ ไทยเราลงทุนเป็นหลักร้อยล้านบาทที่จะช่วยกันควบคุมป้องกันโรคต่างๆ ดังที่เอ่ยมา ล่าสุดเราก็คงจำกันได้สำหรับกรณีโรคเมอร์สทั้งสองรายที่เข้ามาในประเทศ

ความท้าทายหนึ่งที่ค้างคาในใจของผู้ดูแลระบบสาธารณสุขระดับประเทศของทุกประเทศในโลกคือ การพัฒนานโยบายและมาตรการในการจัดการควบคุมและป้องกันโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมือง ที่มีประชากรหลากหลาย จำนวนมากมาย และมักมีอิสระในการใช้ชีวิตสูงจนไม่สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้ปฏิบัติกันได้อย่างครบถ้วนถูกต้อง และเป็นระบบในเวลาอันจำกัด จนสุดท้ายก็อาจทำให้จำเป็นต้องจำกัดการรับรู้ข่าวสารบางอย่างที่จะก่อให้เกิดการตื่นตระหนกในสังคมจนเกินเหตุในบางกรณี จนกว่าจะมั่นใจว่าทุกอย่างนิ่ง และสามารถจัดการได้จริง

และแน่นอนว่าหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้นมา ประชาชนก็มักจะเสพ และเชื่อข่าวลือต่างๆ และจัดการตนเองแบบตัวใครตัวมัน ถูกบ้างผิดบ้าง จนก่อให้เกิดผลกระทบต่างๆ ตามมา

ถามว่า แล้วรัฐจะจัดการระบบควบคุมป้องกันโรคในเขตเมืองอย่างไรล่ะ? เราลองมาดูงานวิจัยที่ผมและทีมงานทำกันอยู่ว่าเจออะไรบ้าง เผื่อจะช่วยอะไรได้บ้างสำหรับผู้กำหนดนโยบาย และผู้ดำเนินนโยบายต่างๆ ในสังคมเมือง

จากการศึกษาวิจัยในประชากรในกรุงเทพมหานคร จำนวนประมาณ 2,000 คน ที่มีสิทธิข้าราชการและประกันสังคม ในปีพ.ศ.2558-2559 หากรัฐจะวางแผนที่จะให้บริการด้านการควบคุมป้องกันโรคให้เป็นที่ยอมรับและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชากรกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว มีผลการศึกษาที่ควรนำไปพิจารณาพัฒนาทางเลือกเชิงนโยบายดังนี้

ก. หากวางแผนใช้หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไม่ใช่โรงพยาบาล เป็นกลไกหลักในการจัดบริการ

1. ควรมุ่งเน้นการจัดบริการโดยให้ประชาชนสามารถเลือกรับบริการที่ใดก็ได้ที่ใกล้บ้าน ใกล้ที่ทำงาน หรือเปิดโอกาสให้เข้ารับบริการได้ทุกที่ โดยไม่ให้เกิดอุปสรรคในการรับบริการจากกลไกการเบิกจ่าย หรือขั้นตอนการบริการที่ยุ่งยากเกินความจำเป็น ทั้งนี้การจัดบริการในลักษณะดังกล่าวจะทำให้เพิ่มโอกาสในการมารับบริการประมาณ 2 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดบริการในปัจจุบัน

2. ควรประชาสัมพันธ์ให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่อายุเยอะ จะมีโอกาสประสบผลสำเร็จมากกว่า เนื่องจากเข้าใจเหตุผลความจำเป็นในการรับบริการ เน้นความสะดวกใกล้บ้าน และมีแนวโน้มการยึดติดกับโรงพยาบาลน้อยกว่าคนอายุน้อย ทั้งนี้อายุที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 ปี จะมีแนวโน้มที่จะเลือกรับบริการที่สะดวก ใกล้บ้าน โดยไม่ยึดติดกับชนิดสถานบริการ เพิ่มขึ้นราว 3%

3. ควรมุ่งเน้นเรื่องบริการให้คำแนะนำให้ชัดเจน ครบถ้วนสมบูรณ์ มีความเป็นมิตร และให้เวลาที่เพียงพอแก่ประชาชน

ทั้งนี้การจัดบริการให้คำแนะนำลักษณะดังกล่าวจะช่วยเพิ่มโอกาสในการมารับบริการราว 2 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับบริการในปัจจุบัน

ข. หากวางแผนที่จะจัดบริการควบคุมป้องกันโรคโดยใช้โรงพยาบาลเป็นกลไกหลัก ปัจจัยเชิงระบบที่มีอิทธิพลสูงถึง 2-3 เท่า ต่อการตัดสินใจของประชาชนในการมารับบริการได้แก่

1. ภาพลักษณ์ของโรงพยาบาลด้านความทันสมัย และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ถือเป็นเหตุผลหลักที่จะจูงใจประชาชนให้มารับบริการ

2. การสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนเรื่องความเท่าเทียมกันในการมารับบริการ หรือแปลอีกนัยหนึ่งว่า ต้องไม่ทำให้รู้สึกถึงการบริการที่เหลื่อมล้ำระหว่างสิทธิ

3. ช่องทางการเข้าถึงบริการผ่านเครือข่ายสังคมต่างๆ จะช่วยดึงดูดประชาชนอายุน้อยและวัยทำงานได้ดี

สองแนวทางข้างต้นนั้น เราจะเห็นได้ว่าเป็นทางเลือกในการจัดการระบบที่่เรามีอยู่ในมือ แต่เชื่อไหมว่า ภายใต้สังคมโลกที่เปลี่ยนไปสู่ความเป็นเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ นี้ ทางเลือกต่างๆ ดังกล่าวแม้จะได้รับการนำไปพัฒนาเป็นนโยบาย และมาตรการได้จริง ก็อาจเป็นเพียงยาบรรเทาอาการ ที่ใช้ได้ผลเพียงระดับเดียว

สังคมเมืองยังจำเป็นต้องมีการพัฒนากลไกใหม่ในชุมชนนอกเหนือไปจากสถานพยาบาลระดับต่างๆ ให้มามีส่วนเอี่ยวในการช่วยเหลือ และดำเนินกิจกรรมควบคุมป้องกันโรค หรือความเสี่ยงทางสุขภาพที่เกิดขึ้นในอนาคต

ในอีกสักเดือนสองเดือนข้างหน้า จะมาเล่าให้ฟังว่า กลไกใหม่ที่ควรทำให้เกิดขึ้น หรือสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ภายใต้มุมมอง และความปรารถนาของประชาชนในสังคมเมืองนั้นเป็นเช่นไร โปรดรอติดตามนะครับ

ผู้เขียน ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย