ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กิจกรรมปาฐกถาป๋วย อึ๊งภากรณ์ ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดต่อเนื่องทุก 2 ปี ในวาระครบรอบวันคล้ายวันเกิด 9 มีนาคม โดยปีนี้เป็นครั้งที่ 15 ประจวบวาระ 100 ปีชาตกาล คณะกรรมการคัดเลือกให้ นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เลขาธิการมูลนิธิสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณสุขระหว่างประเทศ  เป็นผู้แสดงปาฐกถาในหัวข้อ "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน : หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผลสัมฤทธิ์และความท้าทายในอนาคต"

นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร

นพ.วิโรจน์กล่าวว่า นับจากความเรียง "คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" ที่สะท้อนปณิธาน อ.ป๋วย ที่ปรารถนาจะเห็นคุณภาพชีวิตของประชาชนมีหลักประกันขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ปี 2516 ตลอด 40 กว่าปีที่ผ่านมา ตนได้เป็นประจักษ์พยานการต่อสู้อย่างยากลำบากและยาวนานของสังคมไทย ให้ปณิธานดังกล่าวปรากฏผลเป็นจริงขึ้นมาเป็นลำดับ

ทั้งการผลักดันจนเกิดระบบประกันสังคมในปี 2533 โดยผู้ที่อุทิศตัวทุ่มเทอย่างหนักคือ อาจารย์นิคม จันทรวิทุรที่สร้างหลักประกันให้กับพนักงานลูกจ้าง และต้องใช้เวลาอีกกว่า 10 ปี จึงได้เกิดโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2545 ที่ให้ความคุ้มครองด้านสุขภาพแก่ประชาชน ซึ่ง นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นผู้บุกเบิกและผลักดันอย่างสำคัญ

ทั้ง 2 โครงการนี้เป็นการแปลงแนวคิดของอ.ป๋วย ให้เกิดผลเป็นการปฏิบัติที่ชัดเจน

โดยที่ระบบเหมาจ่ายของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ต่อยอดมาจากแนวคิดของระบบประกันสังคม ที่พลิกวิธีคิดในเรื่องของการบริหารจัดการงบประมาณด้านสุขภาพครั้งใหญ่ เป็นระบบที่ทำให้สามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นมาก จากการที่ไม่ต้องมีความเสี่ยงแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งแต่เดิมในรายที่เป็นโรคร้ายแรงหรือเรื้อรัง เป็นโรคที่มีต้นทุนการรักษาพยาบาลสูงนั้น ถึงกับทำให้ครอบครัวล้มละลายได้ โดยในการศึกษาของนักวิจัยต่างชาติ ได้เคยบันทึกว่า ในอดีตชาวชนบทไทยอาจถึงกับต้องขายวัว ขายควาย ขายที่นาและบ้านเรือนเพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาล

นพ.วิโรจน์ หยิบยกผลการศึกษาของนักวิจัยทั้งไทยและต่างชาติในหลากหลายมิติ ต่างมีผลสรุปตรงกันว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยเป็นระบบที่มีประสิทธิผลที่ดี โดยผลตอบรับจากตัวชี้วัดต่างๆ ชี้ว่า บริการด้านสุขภาพของไทย สูงกว่าระดับเฉลี่ยของขอบล่างของประเทศพัฒนาแล้วกลุ่มโออีซีดี  หรือองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา และต่ำกว่ากลุ่มประเทศขอบบนที่ร่ำรวยของกลุ่มนี้ ซึ่งล้วนแต่เก็บภาษีในอัตราสูงกว่าไทยมาก

ทั้งนี้ ความพยายามสร้างหลักประกันด้านสุขภาพให้ประชาชนไทยมีพัฒนาการมาเป็นลำดับ นับแต่การให้บริการรักษาพยาบาลฟรีสำหรับคนจนในยุครัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อปี 2518 และรัฐบาลต่อๆ มาค่อยปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ขึ้นเป็นลำดับ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเจอวิกฤติการเงินในปี 2540 และต้องใช้เวลาอีกถึง 10 ปี จากนั้นกว่ารายได้ประชาชาติจะกลับสู่ระดับก่อนวิกฤติ แต่รัฐบาลก็ตัดสินใจเดินหน้าโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2545  และไทยเป็นประเทศรายได้ระดับกลาง ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งกังวลว่าจะเกิดปัญหาด้านงบประมาณ

ทศวรรษครึ่งของโครงการนี้ ซึ่งผ่านปัญหาข้อจำกัดของงบประมาณมาเป็นระลอก แต่ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องผ่านมาแล้ว 8 รัฐบาล 7 นายกฯ เป็นข้อพิสูจน์ว่าระบบนี้เป็นของสังคมไทยไปแล้ว ไม่ว่าการเมืองจะเปลี่ยนขั้วไปอย่างไร ก็ต้องเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป

รวมทั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ยังเป็นต้นแบบที่ประชาคมโลกต่างให้ความสนใจ และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องรอให้เป็นประเทศที่มีรายได้ระดับสูงก่อน ผู้นำโลก อาทิ นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ นายจิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลก นางมาการ์เร็ต ชาน ผอ.ใหญ่องค์การอนามัยโลกหรือ อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ต่างชื่นชมว่าเป็นตัวอย่างของโลก

นพ.วิโรจน์ ยังชี้อีกว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อาทิ ระบบเหมาจ่าย (Close-end Payment) ที่ออกแบบไว้ ช่วยป้องกันการใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็น เพราะผู้ให้บริการต้องบริหารให้มีต้นทุนต่ำสุด ถ้าเป็นระบบปลายเปิดให้เบิกตามจริง จะเหนี่ยวนำให้เลือกใช้การรักษาที่อาจแพงเกินจำเป็น ท้ายสุดทำให้งบบานปลาย

ขณะเดียวกันการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้ซื้อบริการรายใหญ่รายเดียวแทนประชาชน ทำให้มีอำนาจต่อรองในการจัดหาเวชภัณฑ์หรือเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีผู้ผลิตรายเดียวหรือน้อยราย  ให้ลดราคาลงมา ทำให้ประหยัดงบประมาณไปได้จำนวนไม่น้อย

แต่ยอมรับว่ารายจ่ายของรัฐบาลด้านสุขภาพ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากระดับ 10.4% เป็น 17% ใกล้เคียงกับของสหรัฐอเมริกาที่ใช้อยู่ที่ 18% และมีคาดการณ์แนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ขณะที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะตกต่ำ มีข้อจำกัดของงบประมาณเพิ่มขึ้น เป็นปัญหาที่ต้องร่วมกันหาทางออก โดยคงหลักการเดิมคือ บริการด้านสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนโดยถ้วนหน้า ที่ต้องมีมาแต่กำเนิด และรัฐต้องจัดให้โดยไม่ต้องร้องขอ

นพ.วิโรจน์ย้ำในช่วงท้ายว่า เส้นทางที่ผ่านมาหาได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ถึงที่สุดแล้วหนึ่งทศวรรษครึ่งที่ผ่านมา เป็นการต่อสู้ของ 2 ขั้ว คือระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัว กับผลประโยชน์ส่วนรวม

ทั้งนี้ น่าจะต้องยึดหลักการดังที่อดีตประธานาธิบดีรามอน แม็กไซไซ ของฟิลิปปินส์ ที่เคยกล่าวไว้ว่า "ผู้เกิดมามีน้อย รัฐต้องให้มากกว่า" รวมถึงปณิธานของ ดร.ป๋วย ผู้เคยรับรางวัลแม็กไซไซ ดังตอนหนึ่งในข้อเขียนเรื่องคุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ที่ว่า

"ผมต้องการสุขภาพอนามัยอันดี และรัฐบาลจะต้องให้บริการป้องกันโรคแก่ผมอย่างฟรี กับบริการการแพทย์ รักษาพยาบาลอย่างถูกและอย่างดี เจ็บป่วยเมื่อใด หาหมอ หาพยาบาลได้สะดวก"

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 13 - 16 มี.ค. 2559