ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แอดมินเพจ “Med Sci Smoothies” เผยข้อมูลสารพัดปัญหา “นักเทคนิกการแพทย์” เหตุทำสมองไหล เปลี่ยนงานอาชีพอื่นแทน แถมเทคนิคการแพทย์ติดคณะมีเด็กซิ่วอันดับต้น เหตุทั้งเรียนหนัก แต่จบมาฐานเงินเดือนน้อย ภาระงานหนัก แถมศักดิ์ศรีน้อยกว่าวิชาชีพอื่น ขณะที่ค่าตอบแทนไม่สมดุลกับหลักเกณฑ์การต่ออายุใบประกอบวิชาชีพ ชี้องค์กรด้านเทคนิคการแพทย์ต้องร่วมแก้ปัญหา พร้อมกระตุ้นนักเทคนิคการแพทย์กู้วิชาชีพคืน

ภายหลังจากที่สำนักข่าว Health focus ได้นำเสนอข่าวนักเทคนิคการแพทย์ ร้องขอความเป็นธรรมค่า พ.ต.ส. ที่ผ่านมา ล่าสุดแอดมินเพจ “Med Sci Smoothies” ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงปัญหาความไม่เป็นธรรมและเหลื่อมล้ำในวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ โดยระบุว่า ประเด็นที่อยากให้ความสำคัญคือเรื่องฐานเงินเดือนของนักเทคนิคการแพทย์ นอกจากค่า พ.ต.ส. ที่ได้มีการเปิดข้อมูลไปแล้ว เพราะเงินเดือนและค่าตอบแทนที่ได้รับไม่สมดุลกับหลักเกณฑ์การต่อใบประกอบวิชาชีพเทคนิกการแพทย์ ซึ่งดำเนินการโดยสภาเทคนิคการแพทย์ โดยหลักเกณฑ์การต่อใบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ได้นำมาจากหลักเกณฑ์ของสภาเภสัชกรรม ที่นอกจากให้ต่ออายุทุก 5 ปีแล้ว ยังกำหนดให้ต้องเข้าอบรมและประชุมวิชาการเพื่อเป็นการพัฒนาความรู้ ซึ่งจะมีการเก็บคะแนนเพื่อประกอบการพิจารณา

ทั้งนี้เมื่อดูค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ แม้ว่าอัตราการจัดเก็บจะอยู่ที่ 1,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินไม่มาก แต่เมื่อดูรายละเอียดค่าใช้จ่ายในการเข้าอบรมและร่วมประชุมวิชาการเพื่อทำการเก็บคะแนนต่อใบประกอบวิชาชีพ แต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 3,000-4,000 บาท ขณะที่จะมีคะแนนให้ประมาณ 5-10 คะแนน ซึ่งต้องสะสมให้ครบ ทำให้นักเทคนิคการแพทย์ต้องเข้าอบรมและประชุมวิชาการให้ครบตามเกณฑ์ที่กำหนดในช่วง 5 ปี ซึ่งในส่วนที่มีหน่วยงานต้นสังกัดเบิกค่าใช้จ่ายให้ถือว่าเป็นภาระไม่มาก แต่ในกรณีที่เป็นบุคคลซึ่งต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ถือว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับฐานเงินเดือนที่นักเทคนิคการแพทย์ได้รับ จะอยู่ที่ประมาณ 15,000-25,000 บาท เท่านั้นถือว่าน้อยมาก จึงเป็นอัตรารายได้และค่าใช้จ่ายวิชาชีพที่ไม่สมดุลกัน  

“ข้อมูลที่นำเสนอข้างต้นนี้ ต้องการชี้ให้เห็นว่าฐานเงินเดือนของนักเทคนิคการแพทย์นั้นค่อนข้างน้อย เพียงแค่การจ่ายค่าอบรมและร่วมประชุมยังนับเป็นค่าใช้จ่ายที่มาก ขณะเดียวกันเมื่อดูในส่วนของภาระงาน จะเห็นได้ว่านักเทคนิคการแพทย์ ไม่เพียงแต่มีภาระงานที่มาก แต่ยังเสี่ยงต่อโรคจากสิ่งส่งตรวจของผู้ป่วย และบางครั้งยังต้องเป็นผู้เก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจเองโดยตรง ถือเป็นความเสี่ยงที่ไม่ต่างจากวิชาชีพอื่น ดังนั้นจึงมองว่าอัตราเงินเดือนที่ได้รับนั้นไม่คุ้มค่า เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่มีใครออกมาพูดถึงเท่านั้น” แอดมินเพจ Med Sci Smoothies กล่าว

แอดมินเพจ Med Sci Smoothies กล่าวว่า สำหรับอัตราเงินเดือนที่นักเทคนิคการแพทย์ได้รับน้อยนั้น ในสมัยที่ยังเป็นนักศึกษาปี 4 ได้ตั้งคำถามต่ออาจารย์ท่านหนึ่งว่า ทำไมหลักสูตรเทคนิคการแพทย์กำหนดระยะเวลาเรียนเพียงแค่ 4 ปี ทั้งที่เนื้อหาต่างๆ ความเป็นจริงต้องใช้เวลาเรียนถึง 5-6 ปี เช่นเดียวกับแพทย์ ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า เป็นเพราะว่าฐานเงินเดือนของนักเทคนิคการแพทย์ที่ต่ำจึงต้องใช้เวลาเรียนเท่านี้ ขณะที่เมื่อสอบถามเรื่องนี้ไปยังสภาเทคนิคการแพทย์ก็ได้รับคำตอบว่า ให้สอบถามเรื่องนี้ต่อทางมหาวิทยาลัยที่เป็นผู้จัดทำหลักสูตรแทน ขณะที่ทางมหาวิทยาลัยเองก็โยนกลับให้ถามทางสภาเทคนิกการแพทย์อีก ทำให้ไม่รู้ว่าต้องแก้ตรงจุดไหน

แอดมินเพจ Med Sci Smoothies กล่าวต่อว่า นอกจากเรื่องค่าตอบแทนแล้ว สิ่งที่นักเทคนิคการแพทย์ต้องช่วยกันคือการส่งเสริมบทบาทวิชาชีพนักเทคนิคการแพทย์ เพราะที่ผ่านมาถูกมองว่าเป็นวิชาชีพที่ทำงานแต่เฉพาะในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ทำให้เวลามีการจัดระบบเพื่อดูแลผู้ป่วย อย่างเช่นการรักษาโรคไตที่เปิดให้สหวิชาชีพสุขภาพสามารถลงมาดูแลผู้ป่วยได้ แต่กลับไม่มีสาขาเทคนิคการแพทย์รวมอยู่ด้วย

นอกจากนี้ที่ผ่านมาได้มีหลายโรงพยาบาลมอบหมายให้นักเทคนิคการแพทย์มีหน้าพิจารณาการส่งสิ่งส่งตรวจที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้มีการส่งตรวจที่เกินความจำเป็นที่จะส่งผลเสียต่อผู้ป่วยเอง ตรงนี้ถือเป็นบทบาทที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนักเทคนิคการแพทย์ต้องทำงานร่วมกับแพทย์ เพื่อให้เกิดการส่งสิ่งส่งตรวจที่เหมาะสม รวมไปถึงการเบิกจ่ายเลือดด้วย ซึ่งจะช่วยทำให้ระบบดีขึ้น ลดการส่งตรวจที่ไม่จำเป็น และเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยเอง

การผลักดันในประเด็นต่างๆ ข้างต้นที่เกี่ยวข้องกับนักเทคนิคการแพทย์นั้น แอดมินเพจ Med Sci Smoothies กล่าวว่า ต้องแยกเป็น 2 ส่วน ที่ต้องดำเนินการควบคู่ คือ ในส่วนของค่าตอบแทนวิชาชีพ รวมถึงหลักสูตรการเรียน ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลและแก้ปัญหา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ส่วนการส่งเสริมบทบาทวิชาชีพ ถือเป็นหน้าที่ซึ่งนักเทคนิคการแพทย์ตเองช่วยกัน ซึ่งจะทำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของนักเทคนิคการแพทย์

“คณะเทคนิคการแพทย์เป็นคณะอันดับต้นๆ ที่มีเด็กซิ่ว โดยมีนักศึกษาลาออกเพื่อไปสอบเรียนต่อในคณะอื่น อย่างคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งอยากให้ศึกษาสาเหตุว่าทำไมเป็นเช่นนี้ ขณะเดียวกันผู้ที่จบคณะเทคนิคการแพทย์เองมีจำนวนไม่น้อยที่เปลี่ยนไปทำงานอาชีพอื่น เป็นเพราะค่าตอบแทน สวัสดิการ และภาระงาน รวมถึงศักดิ์ศรีความเป็นวิชาชีพที่ดูน้อยกว่าวิชาชีพอื่นหรือไม่ ปัจจุบันทั่วประเทศมีผู้เรียนจบคณะเทคนิคการแพทย์ประมาณ 20,000 คน แต่ยังคงทำงานในวิชาชีพเพียงแค่ 12,000 คน ดังนั้นควรที่จะทำการสำรวจและนำไปสู่การแก้ไขปัญหา”