ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สั่งเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย และสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ตรวจสอบสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนประกอบโรคศิลปะด้านจิตวิทยาคลินิกหรือจิตเวช กรณีโฆษณาอวดอ้างสะกดจิตบำบัดโรค และตรวจสอบตัวบุคคลที่ให้บริการรักษาโรคหากไม่มีใบประกอบโรคศิลปะแม้จะเปิดคลินิกรักษาในโรงพยาบาลที่ถูกกฎหมายก็เข้าข่ายมีความผิดเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะเถื่อน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนสถานพยาบาลก็มีความผิดด้วยเช่นกัน

จากกรณีการโฆษณาสะกดจิตเพื่อรักษาสารพัดโรคทั้งโรคมะเร็ง-เบาหวาน-หัวใจ ฯลฯ พร้อมทั้งระบุว่าได้รักษาคนไข้ไปแล้วกว่า 3,000 คน ไม่ว่าจะเป็นดารา นักแสดง บุคคลมีชื่อเสียง ซึ่งมีทั้งโรคกลัวการแต่งงาน โรคกลัวความสูง แม้กระทั่งการรักษาเด็กสมาธิสั้น โดยมีการโฆษณาผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต และสื่อโทรทัศน์ นั้น

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กองกฎหมาย และเจ้าหน้าที่สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ดำเนินการใน 3 กรณี ได้แก่

1) ให้เร่งตรวจสอบสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ทั้งประเภทที่ดำเนินการโดยแพทย์  และมิใช่แพทย์ ซึ่งมีโรงพยาบาลเอกชนให้บริการทั้งสิ้น 2 แห่ง ว่ามีการโฆษณาการสะกดจิตบำบัดรักษาโรคหรือไม่  และมีการปฏิบัติตามกฎหมายการโฆษณาสถานพยาบาล ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2546 ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการโฆษณาสถานพยาบาลอย่างถูกต้องหรือไม่ หากฝ่าฝืนจะลงโทษปรับ 20,000 บาท และปรับอีกวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติถูกต้องและยุติการเผยแพร่โฆษณา ในส่วนของคลินิกขณะนี้ยังไม่มีที่ใดเปิดให้บริการ เนื่องจากอยู่ระหว่างเปิดให้ขอขึ้นทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นมา

2) ให้เร่งตรวจสอบตัวบุคคลผู้ให้บริการว่ามีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากพบว่าไม่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะเข้าข่ายผู้ประกอบโรคศิลปะเถื่อน แม้ว่าจะเปิดคลินิกรักษาในโรงพยาบาลที่ถูกกฎหมายก็ตาม มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และ 3) ตรวจสอบสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ว่ามีการควบคุมผู้ให้บริการให้ปฏิบัติเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด หรือไม่ หากปล่อยปละละเลยถือว่ามีความผิด เช่นกัน

นพ.บุญเรือง กล่าวต่อว่า ในกรณีที่เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาจิตวิทยาคลินิก จะต้องมีการสอบขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับ กรม สบส. โดยปัจจุบันมีผู้ขึ้นทะเบียนสาขานี้แล้ว 610 คน ซึ่ง กรม สบส. และคณะกรรมการวิชาชีพสาขาจิตวิทยาคลินิก กำลังจะเปิดสอบความรู้เพื่อขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาจิตวิทยาคลินิก ประจำปี 2559 ในวันที่ 19 มิถุนายน 2559 และวันที่ 9 กรกฎาคม 2559 ในส่วนของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ ขณะนี้มีการขึ้นทะเบียนกับแพทยสภา ทั้งสิ้น 39 คน ประกอบด้วย สาขาจิตเวชศาสตร์ 32 คน และ สาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น 7 คน

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า การสะกดจิตมิใช่การประกอบโรคศิลปะจึงไม่สามารถให้บริการในสถานพยาบาลได้ การที่จะให้บริการตรวจรักษาได้จะต้องเป็นมาตรฐานการให้บริการทางการแพทย์ที่ได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพสาขานั้นๆ หรือคณะกรรมการวิชาชีพรับรองตามเนื้อหาหลักสูตรที่รับรองให้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอน