ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เตรียมเปิด “คลินิกการเดินทางและท่องเที่ยว” ใน 13 เขตสุขภาพภายในปี2559 คาดรองรับนักท่องเที่ยวประมาณปีละ 32 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 1.62 ล้านล้านบาท ให้บริการคำปรึกษาและดูแลสุขภาพก่อนและหลังเดินทาง ฉีดวัคซีนป้องกันโรค ให้คำแนะนำ ตรวจสุขภาพและออกใบรับรองแพทย์ก่อนเดินทาง รวมถึงการรักษาโรคที่เกิดจากการเดินทางท่องเที่ยว

วันนี้ (28 มีนาคม 2559) ที่ สถาบันบำราศนราดูร นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาเกียรติยศ “ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์” เรื่อง “มุมมองของการเดินทางท่องเที่ยวในมิติการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย และอาเซียน” ในการประชุมวิชาการประจำปีสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันและสมาคมนักบริหารโรงพยาบาลประเทศไทย ซึ่งในปีนี้จัดในหัวข้อ “ส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในมิติมุมมองด้านสุขภาพ” โดยมีแพทย์และนักวิชาการเข้าร่วมประชุมประมาณ 300 คน

นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดตั้ง “คลินิกการเดินทางและท่องเที่ยว” ที่ สถาบันบำราศนราดูร เป็นแห่งแรกของกระทรวงสาธารณสุข และแห่งที่ 2 ของประเทศไทย เมื่อปี 2558 เพื่อให้บริการแก่ชาวไทยและต่างชาติ ที่เดินทางไปท่องเที่ยว ศึกษาดูงาน ทำงาน ในประเทศต่างๆ สำหรับประเทศไทยในปี 2558 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 29.86 ล้านคน มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นในระดับดีมาก คาดว่าปี 2559 รายได้ทางการท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.62 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 32 ล้านคน

“คลินิกการเดินทางและท่องเที่ยว” จะให้บริการคำปรึกษาและดูแลสุขภาพก่อนและหลังเดินทาง การฉีดวัคซีนป้องกันโรค ให้คำแนะนำการป้องกันโรค ตรวจสุขภาพและออกใบรับรองแพทย์ก่อนเดินทาง รวมถึงการรักษาโรคที่เกิดจากการเดินทางท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงการเดินทางและท่องเที่ยวโดยจะเปิดการฝึกอบรมตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 รวมทั้งมีแผนจะจัดตั้งคลินิกการเดินทางและท่องเที่ยวให้ครบใน 13 เขตสุขภาพภายในปี 2559 เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวอย่างทั่วถึง 

ทั้งนี้ การเตรียมตัวก่อนการเดินทางทั้งท่องเที่ยวและทำงานเป็นเรื่องสำคัญมาก มุมมองการเดินทางการท่องเที่ยวในมิติทางการแพทย์และการสาธารณสุข จะหมายถึงการเดินทางหรือท่องเที่ยวอย่างมีสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย จิตใจ สังคม และปัญญา เนื่องจากการเดินทางมีความเสี่ยงจาก 3 ปัจจัย คือ 

1.ปัจจัยด้านสุขภาพของผู้เดินทาง ได้แก่ วัย โรคประจำตัว 

2.ปัจจัยด้านพฤติกรรมการเดินทางได้แก่ กิจกรรม ที่พัก

และ 3.ปัจจัยด้านพื้นที่ได้แก่ พื้นที่สูง พื้นที่ที่มีโรคระบาดหรือโรคประจำถิ่น ซึ่งการเตรียมพร้อมจะลดความเสี่ยงใน 3 ปัจจัยดังกล่าว โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพ 

สำหรับโรงพยาบาลในพื้นที่การท่องเที่ยว กระทรวงสาธารณสุขได้มีการเตรียมการพัฒนาให้มีศักยภาพรองรับปัญหาด้านสุขภาพที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โดยเน้นให้โรงพยาบาลได้รับการรับรองคุณภาพระดับ HA และ JCI รวมถึงการส่งต่ออย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพด้วย