ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการสารสนเทศด้านสุขภาพแนะ สธ.ปฏิรูประบบ PHR ต้องโฟกัสที่การกำหนดมาตรฐานข้อมูลกลางก่อน ควบคู่ไปกับการพัฒนาแอพพลิเคชั่น ชี้ถ้าไม่วางมาตรฐานข้อมูล สุดท้ายได้แค่แอพฯ เพียงแอพฯ เดียว

นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์

นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้เชี่ยวชาญด้านระบบข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพ (Health IT) เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจที่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เห็นความสำคัญเรื่อง Health IT และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณสุข ด้านการระบบอภิบาลระบบสุขภาพ ก็กำหนดให้เป็น 1 ในเรื่องที่ต้องขับเคลื่อนการปฏิรูป

นพ.นวนรรน กล่าวว่า การขับเคลื่อนด้าน Health IT มีหลายประเด็นที่ต้องทำ เช่น เรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาทิ เซิร์ฟเวอร์และโครงข่ายสื่อสารของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง เรื่องมาตรฐานข้อมูล เรื่ององค์กรกลางและการจัดกำลังคน ฯลฯ แต่ด้วยกรอบระยะเวลาปฏิรูป 18 เดือน ก็คงไม่สามารถทำได้หมดทุกเรื่อง ดังนั้นการเริ่มต้นที่ระบบ Personal Health Record (PHR) และระบบ Health Information Exchange (HIE) ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

อย่างไรก็ตาม ในฐานะนักวิชาการ ด้าน Health IT ก็ยังมีความกังวลว่าเมื่อพัฒนาไปแล้ว ระบบ PHR จะกลายเป็นเพียงแอพพลิเคชั่นอันหนึ่งที่ทุกโรงพยาบาลต้องใช้หรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วต้องโฟกัสที่มาตรฐานข้อมูลเพื่อให้แอพฯด้าน PHR ที่มีอยู่หลากหลาย สามารถทำงานร่วมกันกันได้มากกว่า

“PHR ไม่ได้แปลว่าเป็นแอพฯ แอพฯ เดียวที่ไปแทนที่ซอฟต์แวร์อื่นๆ ของโรงพยาบาลทั้งหมด แต่อยู่บนมาตรฐานเดียวกันและทุกแอพฯ ทำงานร่วมกันได้ ซึ่งจุดเริ่มต้นในการทำงานควรจะมาคุยกันในเรื่องมาตรฐานข้อมูล โดยมี stakeholder ทุกฝ่ายมาหารือร่วมกัน” นพ.นวรรณ กล่าว

นพ.นวนรรน กล่าวอีกว่า ในส่วนของมาตรฐานข้อมูลนั้น กว่าจะพูดคุยจนตกผลึกก็ใช้เวลานานเป็น 10 ปี แต่ด้วยกรอบระยะเวลาปฏิรูปเพียง 18 เดือน ก็อาจต้องมีการพัฒนาแอพฯ ด้าน PHR ขึ้นมาก่อน ควบคู่ไปกับการกำหนดมาตรฐานข้อมูลร่วมกัน ซึ่งแอพฯ ดังกล่าวจะเป็นตัวแสดงให้เห็นว่า PHR มีความเป็นไปได้ในการใช้งานจริง โดยอาจกำหนดโรงพยาบาลนำร่องให้มีการใช้งาน 1 เขตสุขภาพ 1 โรงพยาบาล แล้วทดลองดูว่าเมื่อคนไข้ขอข้อมูลจากโรงพยาบาล A แล้วถือไปที่โรงพยาบาล B ที่อยู่ในโครงการนำร่องเหมือนกัน ข้อมูลนี้จะทำงานได้ดีหรือไม่ หากทำได้ดีก็แสดงว่าการพัฒนาระบบ PHR เป็นไปได้จริง แล้วขยายผลไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ต่อไป

ขณะเดียวกัน การกำหนดมาตรฐานข้อมูลกลาง ก็ต้องมีการจัดทำควบคู่กันไปในระยะยาว เพราะการพัฒนา PHR จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ ถ้ามีแต่มาตรฐานข้อมูลแต่ไม่มีแอพฯ ก็จะกลายเป็นเพียงอะไรบางอย่างที่ลอยอยู่ในอากาศ แต่หากพัฒนาแอพฯ อย่างเดียวโดยไม่มีมาตรฐานข้อมูล แอพฯ ต่างๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นก็จะคุยกันไม่รู้เรื่อง

นอกจากนี้แล้ว การที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณสุข ด้านการระบบอภิบาลระบบสุขภาพ กำหนดให้มีการทำงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นั้น โดยส่วนตัวเห็นว่า งานด้าน Health IT มีความซับซ้อนเฉพาะด้าน แค่คำศัพท์ต่างๆ ก็คุยไม่เหมือนกันแล้ว หากเอานัก IT มาทำระบบ Health เลย อาจได้ผลลัพธ์ไม่ดีนัก ดังนั้น สธ.ต้องเป็นตัวนำในการกำหนดวิสัยทัศน์ของระบบ PHR และ HIE ว่าต้องการระบบแบบไหน รวมทั้งดึงเอานักวิชาการที่มีความรู้ทั้งด้านการแพทย์และด้าน IT เข้ามาทำงานเพื่อเป็นตัวเชื่อมระหว่าง 2 ฝ่ายเข้าด้วยกัน