ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเห็นชอบ 4 แนวทางลดผลกระทบด้านสุขภาพ สร้างความสมดุลจากการเปิดการค้าเสรีระหว่างประเทศ หวั่นต่างชาติคุมธุรกิจและสิทธิบัตรยาเบ็ดเสร็จ กระทบผู้ป่วยคนไทยต้องซื้อยาแพงและเข้าถึงการรักษายากลำบาก พร้อมหนุนรัฐลดเงื่อนไขกีดกันบริษัทคนไทยในประเทศคู่ค้า หวังสร้างความเท่าเทียมกันให้มากขึ้น

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอแนะจากการประชุมวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ ปี 2558 ตามที่ คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (คจคส.) ที่มี นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา อดีตกรรมการสุขภาพแห่งชาติเป็นประธานเสนอ และมอบให้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เสนอให้คณะรัฐมนตรีทราบเพื่อมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปรับใช้ในกระบวนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้เกิดความสมดุลระหว่างประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ และคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนด้วย

“ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างการจัดทำข้อตกลงการค้าการลงทุนทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคหลายฉบับ ซึ่งทั้งหมดจะต้องรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอจากทุกฝ่าย ดังนั้น แนวทางที่ได้จากการประชุมวิชาการฯ ที่ คจคส.เสนอมาเป็นการรวบรวมความเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่เห็นว่าข้อตกลงทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นมาตรการที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี การส่งเสริมการลงทุน หรือการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ต้องคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนด้วย”

นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธาน คจคส.กล่าวว่า แนวทางที่ คจคส.เสนอได้อ้างอิงข้อมูลจากการศึกษาโดยนักวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศที่นำมาเสนอและแลกเปลี่ยนความเห็นกันในการประชุมวิชาการฯ เมื่อวันที่ 7-8 กรกฎาคม 2558 ซึ่งเป็นการประชุมปีที่ 2 ติดต่อกัน ผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งมาจากหลากหลายภาคส่วน ส่วนใหญ่มีความเป็นห่วงผู้ประกอบการไทยและผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยจากการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกรณียารักษาโรคที่อาจจะแพงขึ้นจากการผูกขาดสิทธิบัตรของต่างชาติ อุปสรรคการเข้าถึงยาของผู้ป่วย และการเข้ามาลงทุนในธุรกิจสุขภาพของต่างชาติ ซึ่งรัฐต้องมีมาตรการที่เหมาะสมในการจัดการเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อระบบสุขภาพไทย ขณะเดียวกัน พบว่าผู้ประกอบการไทยเองที่จะออกไปเปิดตลาดยาในประเทศคู่ค้าก็ยังมีข้อจำกัด ถูกกีดกัน ได้รับความไม่เป็นธรรม ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่

นางศิรินา กล่าวว่า แนวทางที่เสนอประกอบด้วย 4 ประเด็น ได้แก่

1. ข้อเสนอแนะต่อประเด็นการค้าเสรีระหว่างประเทศ ควรมีวัตถุประสงค์เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีในประเทศคู่เจรจาด้วย โดยเฉพาะในธุรกิจยาของไทย เช่น การตรวจมาตรฐานต่างๆ การขึ้นทะเบียนยา และการเพิ่มการแข่งขันอย่างเท่าเทียมโดยการเจรจาให้ลดสิทธิประโยชน์ของผู้ค้าในประเทศนั้นๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าลงทุนและแข่งขันกับผู้ค้าในประเทศนั้น ๆ ได้

2. ข้อเสนอแนะต่อประเด็นการลงทุนจากต่างประเทศ รัฐควรกำหนดในหลักการของความตกลงคุ้มครองการลงทุนให้รัฐมีสิทธิที่จะกำกับควบคุมการลงทุนจากชาวต่างชาติ และเร่งปรับปรุงการคุ้มครองการลงทุนของไทย และกลไกการระงับข้อพิพาทให้ชัดเจน เพื่อลดข้อกล่าวหาที่ไม่สมเหตุผลและการฟ้องร้องที่ไม่สิ้นสุดจากนักลงทุนชาวต่างชาติ รวมทั้งควรเพิ่มการเผยแพร่แลกเปลี่ยนข้อมูลที่ทันสมัยในเรื่องความตกลงคุ้มครองการลงทุนต่อสาธารณะ เพิ่มการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพในประเทศ จนสามารถผลิตออกสู่ตลาด และส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ด้วย

3. ข้อเสนอแนะต่อการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยา ในกระบวนการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ (Government use of patent) รัฐควรพิจารณาใช้มาตรการเจรจากับผู้ทรงสิทธิบนข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ก่อน โดยคำนึงถึงความครอบคลุมไปยังกลุ่มประชาชนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทยด้วย และในการเจรจาต่อรองราคายา ควรใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์จากการศึกษา และข้อมูลอื่นๆ รวมถึงข้อเสนอของการดำเนินการในลักษณะเอกชนร่วมมือกับรัฐพิจารณาเป็นทางเลือกสำหรับการเพิ่มการเข้าถึงยาด้วย

นอกจากนี้ รัฐต้องให้ความสำคัญกับเรื่องกลไกการควบคุมราคายาที่มีประสิทธิภาพ และการสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาขีดความสามารถของผู้ผลิตไทยในการแข่งขันทางการตลาดด้วย ทั้งนี้ ควรพิจารณาปรับปรุงพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ให้ควรครอบคลุมประเด็นต่างๆ ที่เท่าทันสถานการณ์ ได้แก่ การป้องกันสิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุด มาตรการความยืดหยุ่นทั้งหมดภายใต้ความตกลงทริปส์ที่ปฏิบัติได้จริง และกระบวนการคัดค้านคำขอก่อนการให้สิทธิบัตรโดยไม่จำกัดเวลา

4. ข้อเสนอแนะต่อการศึกษาวิจัยที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม ควรศึกษาผลกระทบต่อระบบสุขภาพจากกรอบการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) และกรอบอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการเจรจาโดยใช้วิธีการศึกษาวิจัยที่หลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในธุรกิจสุขภาพในประเทศไทย และธุรกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องผลกระทบจากนโยบายการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐต่อความล่าช้าของการเข้าสู่ตลาดของยาใหม่ และเรื่องผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการเข้าถึงยาจากโครงการเพิ่มการเข้าถึงยาของบริษัทต่างๆ ต่อผู้ป่วยสิทธิต่าง ๆ

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ข้อเสนอจากการประชุมครั้งนี้จะนำเสนอต่อ รัฐบาล เช่นเดียวกับข้อเสนอจากการประชุมวิชาการฯ ครั้งแรกในปี 2557 เพื่อให้คณะรัฐมนตรี รับทราบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาใช้เป็นข้อมูลประกอบในกระบวนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับมาตรการรองรับผลกระทบในการเข้าถึงยาของประชาชนในประเทศไทย และขณะเดียวกันต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพสามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมในประเทศอื่นๆ และไม่เสียเปรียบนักลงทุนชาวต่างชาติในด้านการค้าการลงทุนด้วย