วิชาชีพ “พยาบาล” ถือเป็นกำลังคนในระบบสุขภาพที่มีบทบาทสำคัญต่อการให้บริการประชาชน ซึ่งปัจจุบันถือว่าอยู่ในภาวะ “ขาดแคลน”
โดยมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพประมาณ 180,000 คน แต่ทำงานในระบบจริงๆ เพียง 130,000 คน ขณะที่ความต้องการพยาบาลมีถึง 160,000 คน
นั่นหมายความว่า ตลาดแรงงานยังขาดแคลนอยู่อีก 30,000 คน
สภาการพยาบาลไทย คาดว่า ถ้าไม่มีมาตรการรับมือ ในปี 2563 อัตราการขาดแคลนพยาบาลจะเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 คน
ท่ามกลางปัจจัยที่ถาโถม ทั้งความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สังคมผู้สูงวัย โรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ ฯลฯ
ขณะที่สถานศึกษาที่ผลิตพยาบาลเข้าสู่ระบบ สามารถผลิตได้ปีละ 10,000 คนเท่านั้น และในจำนวนนี้ เข้าสู่ระบบเพียงร้อยละ 80 และค่อยๆ ลาออกไปในช่วง 5 ปีแรก เนื่องจากการทำงานหนัก เมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่ไม่สมดุลกัน
จนสุดท้าย...เหลือพยาบาลอยู่ในระบบเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น!!
ในการประชุมวิชาการ บทบาทของสถาบันการศึกษาภาคเอกชนในการผลิตพยาบาล (Role of private sector training institutions In Human Resources for Health: training and beyond) เมื่อวันที่ 14- 15 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ภายใต้โครงการวิจัยด้านสุขภาพ Resilient and Responsive Health Systems: RESYST) ที่เกิดจากความร่วมมือของ 7 ประเทศ ได้แก่ อัฟริกาใต้ แทนซาเนีย เคนยา ไนจีเรีย อินเดีย เวียดนาม และไทย มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดีๆ และช่วยให้คำแนะนำภาครัฐ เร่งวางแผนแก้ปัญหากำลังคนในวิชาชีพพยาบาล
โดยมุ่งให้ สถาบันการศึกษาภาคเอกชน ที่ขณะนี้มีมากกว่า 1 ใน 4 ของสถาบันที่ผลิตพยาบาลทั้งหมด เข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในการผลิตพยาบาล รวมถึงช่วยเป็นกลไกกระจายกำลังคนด้านพยาบาลในหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ห่างไกล สร้างความเท่าเทียมด้านสุขภาพระหว่างเขตเมืองและชนบทมากขึ้น
Dr.Nzomo Mwita ตัวแทนจากองค์กรด้านสุขภาพ Amref แห่งอัฟริกา (Amref Health Africa) ประเทศเคนยา ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟังว่า เคนย่าต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรเช่นเดียวกัน โดยมีอัตราส่วนพยาบาล 103.4 คนต่อประชากร 100,000 คน ต่ำกว่าที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดอัตราส่วนขั้นต่ำที่ 500 คนต่อประชากร 100,000 คน
การศึกษาวิจัยของ Dr.Nzomo Mwita พบว่า ปัจจุบันเคนย่ามีจำนวนของสถาบันการศึกษาพยาบาลเอกชนเปิดทำการเรียนการสอนเพิ่มขึ้น แต่ยังน้อยกว่าสถาบันของรัฐซึ่งมีจำนวนมากกว่าครึ่ง
“แม้จำนวนสมัครเข้าเรียนพยาบาลจะเพิ่มขึ้นทั้งของสถาบันภาครัฐและเอกชน รวมปีละประมาณ 5,000 คน แต่มีจำนวนผู้สอบผ่านและสำเร็จการศึกษาเพียงแค่ปีละประมาณ 1,500 คนเท่านั้น”
ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งสนับสนุนให้อัตราการสำเร็จการศึกษาของพยาบาลเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มงบประมาณสนับสนุนแก่สถานศึกษา โดยสนับสนุนอุปกรณ์ สถานที่ฝึกอบรมพยาบาล ให้มีความเชี่ยวชาญ จัดหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการ ให้ทุนการศึกษา และออกระเบียบหรือกฎหมาย ส่งเสริมให้มีการสร้างสถาบันภาคเอกชนมากขึ้น
Dr.VR Muraleedaharn แห่งสถาบันเทคโนโลยีอินเดียมาดราส (Indian Institute of Technology Madras: IITM) รัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย กล่าวว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนสถาบันการศึกษาพยาบาลในรัฐทมิฬนาฑู เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งระดับปริญญาและอนุปริญญา รวม 374 สถาบัน ผลิตพยาบาลได้ปีละประมาณ 18,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชนถึง 346 สถาบัน เป็นของรัฐบาลเพียง 28 สถาบันเท่านั้น
การศึกษาวิจัยพบว่า แม้รัฐทมิฬนาฑูจะผลิตพยาบาลได้จำนวนมาก แต่เนื่องจากผลตอบแทนที่ต่ำ จึงทำให้ก็มีการเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ไปทำงานที่อื่นจำนวนมาก รวมทั้งปัญหาการกระจายกำลังคนด้านสุขภาพไม่เท่าเทียมกัน และขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพ โดยเฉพาะการผดุงครรภ์
“ผลจากการวิจัยได้จัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานภาครัฐ ที่ให้สถาบันภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับกำลังคนสุขภาพด้านพยาบาล โดยให้รัฐบาลออกกฎระเบียบ กฎหมาย การฝึกอบรมพยาบาลให้มีความเป็นอิสระมากขึ้น ผลิตพยาบาลผู้เชี่ยวชาญให้มีความหลากหลายมากขึ้น และการร่วมมือกันระหว่างสถาบันของรัฐและเอกชนในการสร้างโอกาสการจ้างงานที่ดีให้กับพยาบาล”
Dr.Duane Blaauw ตัวแทนจาก RESYST เปิดเผยว่า โครงการ RESYST ได้รับการสนับสนุนจากวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน (London School of Hygiene and Tropical Medicine) ตั้งแต่ปี 2554–2559 เพื่อเสริมสร้างระบบสุขภาพในประเทศที่มีรายได้ต่ำ ไปสู่การกำหนดนโยบาย และการวางแผนจัดการลดปัญหาความยากจนและสร้างความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงระบบสุขภาพ โดยมุ่งเน้นสนับสนุนการวิจัยสุขภาพใน 3 ด้าน ได้แก่ การเงินการคลังด้านสุขภาพ การอภิบาลระบบสุขภาพ และกำลังคนด้านสุขภาพ
“การประชุมในครั้งนี้ มีประเทศต่างๆ มาแลกเปลี่ยน เรียนรู้ นำเสนอผลการวิจัยบทบาทของสถาบันการศึกษาเอกชนในการผลิตพยาบาล นำไปสู่ข้อสรุปของการวิจัย จัดทำข้อเสนอในเชิงนโยบายของแต่ละประเทศ เชื่อมโยงกับประเด็นต่างๆ อาทิ โครงสร้างของระบบสุขภาพ การผลิตกำลังคนด้านสุขภาพ การเรียนการสอนในสถาบันเอกชน การกำกับดูแล เป็นต้น”
นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) หนึ่งในนักวิจัยในโครงการ RESYST เปิดเผยว่า ในส่วนของประเทศไทย น่าจะนำประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ มาปรับปรุง ประยุกต์ ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศ นำเสนอต่อ คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ที่มี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นประธาน เพื่อพิจารณาผลักดันเป็นนโยบายแก้ปัญหากำลังด้านสุขภาพในด้านพยาบาลต่อไป
“สำหรับประเทศไทย พบว่าพยาบาล กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองหลวงและหัวเมืองใหญ่ ไม่กระจายไปยังหน่วยงานของรัฐที่ในชนบทห่างไกล ทั้งที่ทัศนคติของนักศึกษาส่วนใหญ่ พอใจที่จะกลับไปทำงานในภูมิลำเนาเดิมในชนบท”
ปัจจุบัน มีสถาบันการศึกษาด้านพยาบาลในประเทศไทย ทั้งสิ้น 85 แห่ง แบ่งเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐ 62 แห่ง และสถาบันศึกษาเอกชน 23 แห่ง ผลิตพยาบาลรวมได้ปีละประมาณ 10,000 คน
หากมีความร่วมมือกันระหว่างสถานบันของรัฐและเอกชนในการให้ทุนการศึกษา การกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกที่จูงใจให้มีการเรียนพยาบาล คาดว่าจะสามารถผลิตได้เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 12,000 คน
เมื่อพิจารณาจากผลการศึกษาของประเทศไทย นพ.วิโรจน์ ให้ข้อเสนอแนะสอดคล้องกับทีมนักวิจัยกำลังคนด้านสุขภาพไทยภายใต้ RESYST ซึ่งมี ดร.กฤษดา แสวงดี เป็นนักวิจัยหลัก โดยเสนอแนะว่า การแก้ปัญหาขาดแคลนวิชาชีพพยาบาล ควรครอบคลุม 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.นโยบายด้านการคัดเลือกและการรับเข้าศึกษา ควรคัดเลือกนักเรียนจากพื้นที่ชนบทต่อไป และทำให้เกิดการจ้างงานเพื่อรักษาพยาบาลไว้ในพื้นที่
2. การพัฒนาหลักสูตร เพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับระบบสุขภาพ เช่น ความเสมอภาคทางด้านสุขภาพ นโยบายสุขภาพ ความเข้าใจความหลากหลายด้านวัฒนธรรม
3. การพัฒนาอาจารย์ กำหนดให้มีประสบการณ์ทำงานในชนบทเป็นหนึ่งในเกณฑ์การคัดเลือกเข้าทำงาน และวางแผนกำลังคนเพื่อรับมือสังคมผู้สูงอายุและอัตราการลาออกที่สูงขึ้นในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า
4. กระทรวงสาธารณสุข ควรสนับสนุนให้ภาครัฐหรือโรงพยาบาลในชนบทให้ทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ เพื่อกลับมาทำงานในบ้านเกิดของตัวเอง
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะอนุกรรมการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศในทศวรรษหน้า กล่าวว่า ข้อเสนอจากงานวิจัยและประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะขณะนี้เรากำลังเร่งจัดทำการศึกษาเพื่อวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศในทศวรรษหน้า (พ.ศ.2560-2569) ที่มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพ ในการบริหารจัดการบุคลากรด้านสุขภาพในระดับพื้นที่ ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ อาทิ แพทย์, ทันตแพทย์, เภสัชกร, พยาบาล, เทคนิคการแพทย์, สาธารณสุข, แพทย์แผนไทย, สัตวแพทย์ รวมทั้งกลุ่มวิชาชีพเฉพาะที่ผู้ดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุ นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา นักฝึกการพูดและออกเสียง เป็นต้น
“ผลการศึกษาของ RESYST ครั้งนี้ ถือว่ามีประโยชน์ต่อการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพในส่วนของวิชาชีพพยาบาลระยะ 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในสร้างกำลังคนระดับพื้นที่ และรองรับการกระจายบุคลากรตามความต้องการของระบบสุขภาพอย่างทั่วถึง ทั้งในเมืองและชนบท”
- 1088 views