ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข จัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service plan) ระดับเขตสุขภาพ ปี 2561-2565 วงเงิน 11,679 ล้านบาท พัฒนาสิ่งอำนวยการรักษา และพัฒนาระบบบริการ ลดป่วย ลดตาย ลดแออัดและลดรอคอยนาน ให้เขตสุขภาพเร่งดำเนินการ พร้อมจัดสรรงบประมาณ บุคลากรไปสนับสนุน มุ่งให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม ให้ประเทศมีความมั่นคงด้านสุขภาพ เกิดความยั่งยืนในระบบบริการ

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2559 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service plan) ระดับเขตสุขภาพ ปี 2561-2565 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทระดับประเทศ ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการบริการ ด้านครุภัณฑ์การแพทย์ การพัฒนาศักยภาพกำลังคน ให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น

สำหรับการประชุมครั้งนี้จะเป็นการมอบหมายงานให้แต่ละเขตสุขภาพ เร่งดำเนินการตามแผนการพัฒนาฯ พร้อมจัดสรรงบประมาณ บุคลากร ไปสนับสนุน เพื่อให้การดำเนินการบรรลุเป้าหมาย ให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น มีความเท่าเทียม ส่งผลให้อัตราป่วยตายลดลง ความแออัดของผู้ป่วยลดลง ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น ประเทศมีความมั่นคงด้านสุขภาพ เกิดความยั่งยืนในระบบบริการตามมา

นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข เตรียมแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพในระยะ ปี 2561 – 2565 วงเงินงบประมาณ 11,679 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 พื้นฐานของระบบบริการ เป็นการพัฒนาสิ่งอำนวยในการรักษาผู้ป่วย เช่น เตียงและห้องผู้ป่วย ห้องตรวจ ห้องผ่าตัด เครื่องมือ ระบบไฟฟ้า ประปา ครุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้มากขึ้น เช่น แก้ปัญหาเตียงไม่พอ ให้ได้มาตรฐานประชากร 10,000 ต่อ 25 เตียง

กลุ่มที่ 2 พัฒนาระบบบริการสุขภาพ 13 สาขา 46 กิจกรรมบริการ เน้นแก้ไขปัญหาจากพื้นที่ เพื่อลดอัตราป่วยตาย ลดเวลารอคอยนาน การเข้าถึงบริการ อาทิ สาขาโรคหัวใจ มีบริการฉีดยาละลายลิ่มเลือด ตั้งแต่โรงพยาบาลศูนย์ถึงโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศไทย

รวมทั้งเตรียมพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์ให้ผ่าตัดผู้ป่วยโรคหัวใจได้ครบทุกแห่ง ซึ่งทำให้อัตราที่ผู้ป่วยตายจากเส้นเลือดหัวใจตีบลดน้อยลง ในภาพรวมทั่วประเทศ ขณะนี้ลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 3 เดือน อัตราตายเฉลี่ยผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันลดลงจากร้อยละ 17.03 ในปี 2556 เหลือร้อยละ 11.94 ในปี 2558

นอกจากนี้ยังมีการหารือในเรื่องแผนการทดแทนครุภัณฑ์ก่อสร้างที่มีอายุการใช้งานนาน เพื่อบูรณะสิ่งก่อสร้างและอาคารต่อไป

ทั้งนี้ใน 13 สาขา ได้แก่ สาขาเชี่ยวชาญ 5 สาขา คือ 1.โรคหัวใจ 2.โรคมะเร็ง 3.อุบัติเหตุและฉุกเฉิน 4.ทารกแรกเกิด 5.รับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ

สาขาบริการหลัก 5 สาขา คือ 1.สุขภาพจิต จิตเวช และยาเสพติด 2.ตา 3.ไต 4.สุขภาพช่องปาก 5.สาขาหลัก 5 ด้าน (สูติกรรม ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารเวชกรรม ศัลยกรรมกระดูกและข้อ)

และบริบท 3 บริการ คือ1.โรคไม่ติดต่อ 2.ระบบบริการปฐมภูมิและสุขภาพอำเภอ เน้นทำงานรูปแบบประชารัฐ 3.แพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน ซึ่งแต่ละสาขาเป็นการให้บริการเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง