ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข กำชับสถานพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ ระวังพายุฤดูร้อน ให้ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาใกล้ชิด สำรวจและซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างที่เก่าหรือไม่แข็งแรง เตรียมแผนสำรองการทำงานในภาวะฉุกเฉิน ไม่ให้การบริการหยุดชะงัก เตือนประชาชนหลีกเลี่ยงอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่/เสาไฟฟ้า/ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่/อาคารเก่าเสื่อมโทรม ส่วนพายุฤดูร้อนที่อุดรธานี มีโรงพยาบาลได้รับผลกระทบ 1 แห่ง เปิดบริการได้ตามปกติ

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน บางพื้นที่มีพายุฤดูเกิดขึ้น ทำให้เกิดฝนตกฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ต้นไม้ใหญ่โค่น เสาไฟฟ้าล้ม อาคารบ้านเรือนเสียหาย ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าจะมีพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 6-7พฤษภาคมนี้ที่บริเวณตอนบนของประเทศ และช่วงวันที่ 8-12 พฤษภาคมนี้ พายุฟ้าคะนองจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นที่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลางและตะวันออก ได้กำชับโรงพยาบาลในพื้นที่ดังกล่าว ดำเนินการดังนี้ 

1.เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

2.เตรียมความพร้อมรับมือเหตุการณ์ โดยสำรวจและซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างที่เก่าหรือไม่แข็งแรงพอที่จะทนแรงลมพายุ    

3.เตือนประชาชนและบุคลากรในพื้นที่เสี่ยง หลีกเลี่ยงการอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่/เสาไฟฟ้า/ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่/อาคารเก่าเสื่อมโทรม

และ 4.เตรียมแผนบริหารความต่อเนื่อง หรือแผนสำรองการทำงานในภาวะฉุกเฉิน (Business Continuity Plan) เพื่อให้สามารถจัดบริการประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง และลดระดับความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อหน่วยงาน

สำหรับเหตุการณ์พายุฤดูร้อนที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อเย็นวันที่ 6 พฤษภาคม 2559 เกิดไฟฟ้าดับเกือบทั่วเมือง เบื้องต้นได้รับรายงานว่า โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานีได้รับความเสียหายจากพายุฤดูร้อนในครั้งนี้ ดังนี้  

1.ฝ้าเพดาน กระจกหน้าต่างอาคารแตกเสียหาย ที่ อาคารหลวงตาบัว 10 ชั้น ตึกอำนวยการ อาคารผู้ป่วยนอกหลังเก่า อาคารเวชกรรม อาคารศูนย์การแพทย์ อาคารศัลยกรรมกระดูก  

2.ตึกสูตินรีเวชกรรม 5ชั้นหลังคาเปิด ต้องย้ายผู้ป่วยห้องพิเศษชั้น 5 ไปอาคารอื่นชั่วคราวแล้ว 

3.เสาธงหัก เครื่องเอ็กเรย์คอมพิวเตอร์เสียหาย 1 เครื่อง

และ 4.มีผู้รับบาดเจ็บเป็นผู้ป่วยถูกกระจกแตกบาด 2 คนและเจ้าหน้าที่ถูกไฟดูด 1 คน อาการไม่รุนแรง 

ได้มอบหมายให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เข้าไปอำนวยการช่วยเหลือ โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี โดยให้ดูแลรักษาผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างเต็มที่ ทั้งหมดอาการไม่รุนแรง ได้รับรายงานว่าโครงสร้างอาคารไม่ได้รับความเสียหาย  ส่วนกระจกที่แตกเสียหาย รวมทั้งฝ้าเพดานและหลังคา อยู่ระหว่างการซ่อมแซม สามารถเปิดบริการประชาชนตามปกติ มีระบบไฟสำรอง แม้เกิดไฟฟ้าดับ ขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่เร่งทำความสะอาด  ให้สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ  โดยผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีได้ไปตรวจเยี่ยมและให้การสนับสนุนส่วนหนึ่งแล้ว                          

ทั้งนี้ จากการสำรวจไม่มีโรงพยาบาลแห่งอื่นในจังหวัดอุดรธานีได้รับความเสียหาย มีประชาชนบาดเจ็บจากเหตุการณ์เข้ารับการรักษา 10 คนเป็นอุบัติเหตุทั่วไป เช่น หกล้ม ป้ายโฆษณาหล่น ต้นไม้ทับ สังกะสีบาดจำนวน 7 คน บาดเจ็บจากจราจร 3 คน เสียชีวิต 2 ราย ประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือบาดเจ็บ โทรสายด่วน 1669 พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ข่าวสด