ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หัวหน้าโครงการประเมินนโยบายสุขภาพ สธ.แจง เลนส์แก้วตาเทียมที่ใช้ในระบบบัตรทองมีคุณภาพ ประธานกรรมการเป็นจักษุแพทย์อาวุโสได้รับการยอมรับในวงการ ยัน สปสช.ไม่ได้ทำหน้าที่จัดซื้อ แต่ช่วย รพ.ต่อรองราคาจนได้ถูกลงกว่าครึ่ง เหตุจากงานวิจัย HITAP ก่อนหน้านี้พบผู้ป่วยตาต้อกระจกบัตรทองมีปัญหาเข้าถึงเลนส์แก้วตาเทียม จึงมีข้อแนะนำให้ สปสช.จัดการต่อรองราคา เพื่อให้ได้ถูกลง 5 ปีช่วยประหยัดงบกว่าพันล้านบาท

นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์

นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP-ไฮแทป) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมามีการให้ข้อมูลเท็จต่อสังคมเกี่ยวกับคุณภาพของเลนส์แก้วตาเทียมที่ใช้รักษาผู้ป่วยตาต้อกระจกในระบบบัตรทอง HITAP ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ได้ทำวิจัยเรื่องนี้พบว่า ก่อนหน้านี้ผู้ป่วยบัตรทองมีปัญหาในการเข้าถึงเลนส์ชนิดใหม่แบบพับได้ ซึ่งมีข้อเสนอแนะจากการทำวิจัยครั้งนั้นว่า ประเทศไทยจะได้ประโยชน์หากมีการต่อรองราคากับบริษัทผู้ผลิต โดยยังสามารถคงคุณภาพมาตรฐานของการดูแลรักษาผู้ป่วย จึงเป็นที่มาของการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) ได้ช่วยโรงพยาบาลต่างๆ ในการต่อรองราคากับบริษัทหลายแห่ง ซึ่ง สปสช.ไม่ได้ทำหน้าที่จัดซื้อแต่ช่วยต่อรองราคาให้ และนำข้อมูลราคาที่ต่อรองได้ไปให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อของโรงพยาบาลใช้ประกอบการตัดสินใจในการจัดซื้อ ทั้งนี้การต่อรองราคาก็ดำเนินการโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายภาคส่วน มีประธานเป็นจักษุแพทย์อาวุโสซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือในวงการ

นพ.ยศ กล่าวต่อว่า การที่ สปสช.ช่วยทำหน้าที่ต่อรองราคาแทนโรงพยาบาลทำให้มีอำนาจในการต่อรองสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาเลนส์ตาลดลงมากกว่าครึ่ง และทำให้เลนส์ชนิดใหม่ซึ่งพับได้มีราคาถูกลงจนสามารถนำมาใช้กับผู้ป่วยบัตรทองได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถเข้าถึงได้ หากนับรวมงบประมาณของประเทศที่ประหยัดลงไปจากการทำงานของ สปสช.ครั้งนี้มีมูลค่าปีละ 300 ล้านบาท หรือรวมกว่าพันล้านบาทใน 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ HITAP ที่เคยระบุว่าผู้ป่วยบัตรทองมีปัญหาในการเข้าถึงเลนส์ชนิดใหม่แบบพับได้ และประเทศไทยจะได้ประโยชน์หากมีการต่อรองราคากับบริษัทผู้ผลิต โดยยังสามารถคงคุณภาพมาตรฐานของการดูแลรักษาผู้ป่วย

“การที่มีการเคลื่อนไหวออกมาโจมตี สปสช. ในช่วงนี้คงไม่พ้นกับการสร้างกระแสและต้องการกดดันการเลือกเลขาธิการ สปสช. คนใหม่ เพราะกลุ่มผลประโยชน์ ต้องการเปลี่ยนแปลงการทำงานของ สปสช. เพราะไปขัดแย้งกับผลประโยชน์ของธุรกิจยาและเครื่องมือแพทย์ตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้จึงเป็นหน้าที่ของนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องที่ทราบข้อเท็จจริงอย่างดี ต้องออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อนายกรัฐมนตรีและสังคม” นพ.ยศ กล่าว