ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ.ขานรับความห่วงใยนายกรัฐมนตรี แก้ไขปัญหาเด็กไทยเตี้ย ให้สูงดี สมวัย แข็งแรง ตั้งเป้าหมาย 20 ปีข้างหน้า ชายไทยสูง 180 ซม. ส่วนผู้หญิง 167 ซม. เผยล่าสุดเด็กไทยที่มีส่วนสูงระดับดีและรูปร่างสมส่วนเพียงร้อยละ 56 ชี้ต้องเตรียมพร้อมส่งเสริมเด็กไทยสูง สมส่วน แข็งแรง ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ทารก วัยเรียน และวัยรุ่น ทั้งการกินอาหาร ออกกำลังกาย และการพักผ่อน

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงเด็กและเยาวชนไทย ต้องการให้มีสุขภาพแข็งแรง ร่างกายสูง รูปร่างดีสมส่วน โดยผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ.2555 (MICS4) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์การยูนิเซฟพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีผอมร้อยละ 6.7 เตี้ยร้อยละ 16.4 และข้อมูลการสำรวจฐานข้อมูลรูปร่างและสรีระประชากรไทย (SizeThailand) ในปี 2551 โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พบว่าความสูงเฉลี่ยของชายไทยอยู่ที่ 169.46 ซม. หญิง 157 ซม. โดยกลุ่มอายุ 16–25 ปี พบว่าผู้ชายมีความสูงเฉลี่ย 171.36 ซม. และหญิงสูง 159.32 ซม. 

ในปี 2559 นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบให้กรมอนามัยจัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมสุขภาพเด็กไทย เริ่มตั้งแต่ในครรภ์มารดา จนกระทั่งเป็นทารก เข้าสู่วัยเรียน และวัยรุ่น เน้นการส่งเสริมโภชนาการ และการออกกำลังกาย ตั้งเป้าหมาย 20 ปีข้างหน้า ชายไทยสูง 180 ซม. และหญิงไทยสูง 167 ซม.

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดในปี 2558 ของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข รายงานมีเด็กวัยเรียนที่มีส่วนสูงระดับดีและรูปร่างสมส่วนเพียงร้อยละ 56 สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดสารอาหารเรื้อรัง ซึ่งข้อมูลวิชาการในหลายประเทศระบุว่า เด็กแรกเกิดถึง 5 ปีที่เตี้ย มักมีภูมิต้านทานต่ำ ส่งผลให้ติดเชื้อง่าย เจ็บป่วยบ่อย ป่วยนาน และรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิตได้ และยังพบว่ามีผลต่อการพัฒนาสมอง โดยระดับสติปัญญาต่ำกว่าเด็กที่มีส่วนสูงตามเกณฑ์ พัฒนาการล่าช้า และความสามารถในการเรียนรู้บกพร่อง ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม เฉื่อยชา ความสูงต่างกันมากกว่า 3.4 ซม.มีผลต่อเกรดที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ เด็กที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า 2,500 กรัม หรือมีภาวะเตี้ยมีความเสี่ยงสูงป่วยเป็นโรคเรื้อรังเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เช่น โรคกระดูกพรุน โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย

ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ได้ดำเนินการส่งเสริมสุขภาพเด็กไทยอย่างต่อเนื่อง อาทิจัดทำโครงการส่งเสริมโภชนาการเด็กปฐมวัย สูงดี สมส่วน สมองดี แข็งแรง และโครงการเด็กวัยเรียนวัยใสโภชนาการดี เพื่อส่งเสริมเด็กปฐมวัยและวัยเรียนให้มีส่วนสูงระดับดี และรูปร่างสมส่วน แก้ไขปัญหาเตี้ย ผอม อ้วน รวมทั้งบูรณาการการดำเนินงานในคลินิกฝากครรภ์ คลินิกเด็กดี หมู่บ้าน ศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียน  

นอกจากนี้ ได้พัฒนาระบบเฝ้าระวังภาวะโภชนาการและการเจริญเติบโตของเด็ก ตั้งแต่โรงพยาบาล ในคลินิกฝากครรภ์และคลินิกสุขภาพเด็กดี ในชุมชน/หมู่บ้าน ศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียน การให้ความรู้ทางโภชนาการในโรงเรียนพ่อแม่ รวมทั้งประสานความร่วมมือและสนับสนุนสื่อให้กับชุมชน ศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียน ในการจัดอาหารตามวัยในครอบครัว และการจำหน่ายอาหารว่างที่มีประโยชน์ในชุมชน รอบรั้วศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียน เพื่อให้เด็กมีการเจริญเติบโตเต็มศักยภาพ สูงดีสมส่วน สมองดี แข็งแรง ลดการเจ็บป่วยเป็นรากฐานของการเจริญเติบโตที่ดีในวัยเรียน เติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ                   

นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า การเพิ่มส่วนสูงมีระยะเวลาจำกัด ผู้ชายหยุดสูงเมื่ออายุ 18-19 ปี ผู้หญิงหยุดสูงเมื่ออายุ 16-17 ปี ช่วงโอกาสทองในการเพิ่มความสูงของเด็กให้สมวัยคือ ช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เด็กหญิงจะโตเร็วกว่าเด็กชาย 2 ปี เริ่มเข้าวัยรุ่นตั้งแต่ 9 ปี และความสูงจะเพิ่มมากที่สุดในช่วงอายุ 11-12 ปี ปีละ 6- 7 ซม. ส่วนเด็กผู้ชายจะเริ่มเข้าวัยรุ่นเมื่ออายุ 11 ปี และสูงเพิ่มมากที่สุดตอนอายุ 13-14 ปี ปีละ 8-9 ซม.  จึงต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงที่มีความสูงเพิ่มมากที่สุด โดยรับประทานอาหาร 5 กลุ่มได้แก่ ข้าว-แป้ง ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์และนม ครบ 3 มื้อหลักในปริมาณเพียงพอ หลากหลาย และอาหารว่าง เช้า-บ่าย เช่นนมจืด ผลไม้ ขนมไทยรสไม่หวานจัด ไม่กินจุบจิบ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่นวิ่งเล่น กระโดดเชือก ว่ายน้ำ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง

ขอบคุณภาพจาก Facebook/ASEAN DNA