ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.และกรมควบคุมโรค ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปี 59 จำนวน 3.5 ล้านโด๊สฟรี ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิใน 4 กลุ่ม ทั้งหญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์มากกว่า 4 เดือนขึ้นไป เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี ผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุที่มีโรคเรื้อรังสำคัญ 7 โรค และผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปี ครอบคลุมไวรัสไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ตามองค์การอนามัยโลกกำหนด เริ่มฉีดพร้อมกันทั่วประเทศ 1 พฤษภาคม – 31 กรกฎาคม 2559 รับบริการได้ที่ รพ.ภาครัฐ และเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ปี 2559 นี้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้จัดสรรงบประมาณกว่า 350 ล้านบาทเป็นค่าวัคซีนและการจัดการวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551) เพื่อจัดซื้อวัคซีน 3.1 ล้านโด๊ส ฉีดฟรีให้กับประชาชน 3.1 ล้านรายทุกสิทธิ 4 กลุ่ม ดังนี้

1.หญิงตั้งครรภ์ ที่อายุครรภ์มากกว่า 4 เดือนขึ้นไป

2.เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี

3.ผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุที่มีโรคเรื้อรังสำคัญ 7 โรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งได้รับยาเคมีบำบัด และเบาหวาน

4.ผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปี

นอกจากนั้นกรมควบคุมโรค (คร.) ยังได้จัดหาวัคซีน 4 แสนโด๊ส เพื่อฉีดให้กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล โดยเริ่มให้บริการพร้อมกับประชาชน

การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีนี้ จะเริ่มพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 31 กรกฎาคม 2559 ทั้งนี้ผู้มารับบริการก่อนได้สิทธิฉีดวัคซีนก่อน โดยประชาชนกลุ่มเป้าหมายสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลภาครัฐและโรงพยาบาลเอกชนที่ขึ้นทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วน สปสช.1330 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ฤดูกาลใหม่ที่ฉีดให้กับประชาชนในปีนี้ เป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อตายชนิด 3 สายพันธุ์ คือ ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 (A H1N1), ชนิดเอ เอช3 เอ็น2 (A H3N2) และชนิดบี(B) ซึ่งมีความคุ้มค่าและความปลอดภัยกว่าวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ ที่เพิ่งมีใช้ในภาคเอกชน เพราะมีประสบการณ์การใช้ในประเทศไทยยาวนานกว่า 10 ปี และยังเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่พบบ่อยในไทยและทั่วโลก นอกจากนี้ยังเป็นวัคซีนที่ใช้ได้ผลดี เนื่องจากเชื้อไม่มีปัญหากลายพันธุ์ อีกทั้งการระบาดของไข้หวัดใหญ่ปีที่แล้ว โดยเฉพาะการระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ ส่วนใหญ่เป็นชนิด เอช3 เอ็น2 (A H3N2) มีสายพันธุ์ใกล้เคียงกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ เอช3 เอ็น2 (A H3N2-สายพันธุ์ ใหม่) ที่พบในฮ่องกงในปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์ปีนี้ จึงมีการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ ใหม่ถึง 2 สายพันธุ์ตามการกำหนดขององค์การอนามัยโลก(WHO) ดังนี้

ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 (A H1N1), ชนิดเอ เอช3 เอ็น2 (A H3N2-สายพันธุ์ใหม่) เป็นเอ/ฮ่องกง แทน เอ/สวิสเซอร์แลนด์ และไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดบี (B-สายพันธุ์ใหม่)เป็น บี/วิคตอเรีย แทน บี/ยามากาตะ ดังนั้นหากในปีนี้มีการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ บี/วิคตอเรียเพิ่มขึ้น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์จะป้องกันครอบคลุมสายพันธุ์บี/วิคตอเรียด้วย เช่นเดียวกับวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ ทางการแพทย์ถือว่าประสิทธิภาพใกล้เคียง จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้วัคซีน 4 สายพันธุ์

ทั้งนี้สถานการณ์ภาพรวมโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลของประเทศ แต่ละปีจะมีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ประมาณ 9 แสนราย ในจำนวนนี้ร้อยละ 3 หรือรวม 26,000 ราย จะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเช่น ปอดบวม ต้องรับรักษาในโรงพยาบาล เสียชีวิตปีละประมาณ 150 ราย โดยในปี 2559 นี้ ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม- 2 พฤษภาคม 2559 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จำนวน 46,618 ราย เสียชีวิต 3 ราย และยังพบผู้ป่วยโรคปอดบวมที่เป็นภาวะแทรกซ้อนได้บ่อย ซึ่งเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558 จึงต้องเร่งช่วยกันทุกภาคส่วนรณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อเป็นการป้องกันและลดจำนวนผู้ป่วย

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)