ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เสนอเพิ่มสิทธิประโยชน์ “ยาอดบุหรี่” ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ช่วยผู้ป่วยติดบุหรี่เข้าถึงการรักษา แถมรุกงานป้องกัน ลดอัตราป่วยสาเหตุจากบุหรี่ ลุ้นรอบรรจุบัญชียาหลักแห่งชาติก่อน ด้าน สปสช.เผยที่ผ่านมาใช้งบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค หนุนหน่วยบริการช่วยผู้ป่วยเลิกบุหรี่ พร้อมสนับสนุนยาอดบุหรี่ชั่วคราวเพื่อดูแลผู้ป่วย   

พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์

พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า จากการสำรวจอัตราการสูบบุหรี่ในประเทศโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2557 พบว่า มีจำนวนถึง 11.4 ล้านคน สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้นการเจ็บป่วยที่มีสาเหตุจากบุหรี่เพิ่มขึ้น รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ การสนับสนุนการเลิกบุหรี่จึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นที่ผ่านมาสมาพันธ์เครือข่ายฯ ซึ่งมีเครือข่ายองค์กรวิชาชีพสุภาพมารวมกันถึง 21 องค์กรรวมอยู่ด้วย จึงได้ผลักดันให้เกิดกระบวนการเลิกบุหรี่อย่างมีประสิทธิภาพ

พญ.สมศรี กล่าวว่า นอกจากโครงการจัดตั้งศูนย์อบรมผู้นำการส่งเสริมการเลิกและบำบัดผู้เสพยาสูบแล้ว การสนับสนุนยาอดบุหรี่ให้กับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับ ยังเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรสุขภาพที่ทำงานด้านบุหรี่ แต่ที่ผ่านมายาอดบุหรี่ยังไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขณะนี้สมาพันธ์เครือข่ายฯ และ สปสช.อยู่ระหว่างผลักดันเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อที่ สปสช.จะบรรจุสิทธิประโยชน์เบิกจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างครอบคลุมและทั่วถึง แต่ยังป้องกันโรคที่มีสาเหตุจากบุหรี่ในผู้ที่ไม่มีอาการป่วย โดยค่าใช้จ่ายยาอดบุหรี่อยู่ที่ 3,000-4,000 บาทต่อราย เป็นจำนวนเงินไม่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับผลที่ได้รับนับว่าคุ้มค่ามาก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายการยาที่เหมาะสม

ทั้งนี้ที่ผ่านมาเพื่อให้ผู้ป่วยที่จำเป็นได้รับยาอดบุหรี่ นอกจากได้รับการสนับสนุนจาก สปสช.บางส่วนแล้ว เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพฯ ยังขอการสนับสนุนจากบริษัทยาแต่สามารถกระจายให้กับคลินิกในเครือข่ายเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมและทั่วถึงให้กับผู้ป่วยเพียงพอ

“มีผู้ป่วยที่สามารถเลิกบุหรี่ได้โดยไม่ต้องใช้ยา เพียงแต่ใช้วิธีการชักจูง แต่มีผู้ป่วยบางรายที่ติดบุหรี่มากจนเลิกเองไม่ได้และจำเป็นต้องใช้ยาอดบุหรี่ช่วย ซึ่งมีอยู่เพียงร้อยละ 2.4 ผู้ป่วยกลุ่มนี้บางคนมีรายได้ไม่มาก จึงไม่มีเงินพอที่จะซื้อยาอดบุหรี่ได้ ดังนั้นหากเราไม่ช่วยให้ผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับยา ผู้ป่วยเหล่านี้ก็จะเข้าไม่ถึงการรักษา” พญ.สมศรี กล่าวและว่า ในการเริ่มสิทธิประโยชน์ยาอดบุหรี่อาจเริ่มในผู้ป่วยบางโรคก่อน เช่น กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเช่นกัน

นพ.ชูชัย ศรชำนิ

ด้าน นพ.ชูชัย ศรชำนิ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปสช.ใช้งบกองทุนส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสนับสนุนดำเนินงานเลิกบุหรี่ให้กับหน่วยบริการ รวมถึงการจัดซื้อยาอดบุหรี่ให้กับผู้ป่วยบางรายที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาระหว่างรอพิจารณาของคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ ขณะเดียวกันด้านคณะทำงานวิชาการอยู่ระหว่างยกร่างแนวทางการรักษาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องอดบุหรี่ควบคู่ ทั้งนี้เพื่อรองรับการบรรจุยาอดบุหรี่ในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้า นอกจากนี้ที่ผ่านมา สปสช.ยังได้ขยายงานคลินิกอดบุหรี่ในหน่วยบริการ โดยเชื่อมโยงลงไปยังชุมชนและท้องถิ่นผ่านกองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่น นอกจากสนับสนุนให้อัตราการเลิกบุหรี่สำเร็จเพิ่มขึ้น เพื่อลดจำนวนผู้สูบบุหรี่แล้ว ยังให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน.