ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ปรับยุทธศาสตร์การทำงานกรมฯช่วง 10 ปี พ.ศ.2560-2569 ให้เป็นหน่วยงานอ้างอิงทางวิชาการ ทำหน้าที่ประกันคุณภาพมาตรฐานสถานบริการ คุ้มครองผู้บริโภค ประชาชนร่วมดูแลสุขภาพตนเองดีขึ้น เล็งสร้างชุดตรวจวัดสุขภาพประชาชน ใช้เกณฑ์การเปลี่ยนแปลงสุขภาพของประชาชนเป็นตัววัดผลงาน เผยขณะนี้ปัญหาสุขภาพคนไทยเกิดจากโรคเอ็นซีดีอันดับ 1 สูญงบสูงถึงร้อยละ70 มีอัตราการป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลสูงที่สุด แสนละ 15,720 คนในปี 2557 นำโด่งโรคติดเชื้อ และการบาดเจ็บ 3-15 เท่าตัว

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ สบส.ได้จัดทำแผนยุทธศาตร์ของกรมฯ ระยะ 10 ปี พ.ศ. 2560-2569 โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากมุมมองของลูกค้าผู้รับบริการ (Customer) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) โดยเชิญผู้นำทางความคิดหรือคนกลาง มาร่วมระดมสมอง สร้างสรรค์คุณค่าการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ครอบคลุมและเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต สนองตอบนโยบายรัฐบาลและเป้าหมายนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขคือคนไทยมีอายุยืน 80 ปี และมีสุขภาพดีจนถึงอายุ 72 ปี

จากการประเมินผลสุขภาพประชาชนที่ผ่านมา พบว่า ขณะนี้ค่าใช้จ่ายของรัฐบาลร้อยละ 70 หมดไปกับการดูแลรักษาโรคเอ็นซีดี (NCD) หรือโรคไม่ติดต่อซึ่งเกิดมาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตโดยตรง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ในปี 2557 ทั่วประเทศมีประชาชนเจ็บป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาล 16 ล้านกว่าคน และใช้บริการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกกว่า 168 ล้านครั้ง เมื่อเปรียบเทียบที่สาเหตุการเจ็บป่วยคนไทย 3 กลุ่มโรคในทุกๆ 1 แสนคนแล้ว พบว่าโรคเอ็นซีดีสูงกว่าโรคที่เกิดจากการติดเชื้อโรค และการบาดเจ็บต่างๆ 3-15 เท่าตัว 

โดยอัตราการป่วยนอนรักษาของโรคเอ็นซีดีเท่ากับ 15,720 คน ขณะที่โรคติดเชื้อเท่ากับ 5,096 คน และการบาดเจ็บมีเพียง 1,142 คน สะท้อนถึงความเร่งด่วนในการแก้ไขโดยเน้นหนักที่มาตรการป้องกันปัญหา การให้ความรู้ประชาชนให้เพียงพอ ให้มีผลถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพระดับบุคคล ซึ่งถือว่าเป็นงานที่มีความท้าทายมาก        

นพ.บุญเรือง กล่าวต่อว่า สำหรับการปรับยุทศาสตร์ช่วง10 ปีของ สบส.ครั้งนี้ จะมีการทบทวนสิ่งที่ได้ดำเนินการที่ผ่านมาและควรดำเนินการต่อการพัฒนางานรองรับการเป็นผู้ควบคุมกำกับมาตรฐาน คุ้มครองผู้บริโภคทั้งด้านการรับริการรักษาพยาบาลและการส่งเสริมสุขภาพ จากสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ การลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตต่างๆ การกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบเทียบเครื่องมือแพทย์ให้ได้ตามมาตรฐาน เพิ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านข้อมูลข่าวสารสุขภาพที่ประชาชนควรรู้ที่เชื่อถือได้จริง เป็นแหล่งอ้างอิง (Reference) ทางข้อมูลวิชาการและเผยแพร่ออนไลน์ ให้ประชาชนเข้ามาติดตามค้นหาความรู้ ได้ง่าย รวดเร็ว มีระบบการประกันคุณภาพมาตรฐานงานบริการ พร้อมทั้งเพิ่มงานวิชาการ งานศึกษาวิจัย ด้านปัญหาสุขภาพและพฤติกรรม ความเชื่อผิดๆ ของประชาชน เพื่อค้นหาสาเหตุที่มีพฤติกรรมและวิธีการป้องกันใหม่ๆ หรืองานอื่นๆที่ตอบสนองปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันมีการกระตุ้นพัฒนาให้ประชาชนดูแลสุขภาพของตนเองให้มากขึ้น 

ทั้งนี้ได้มอบนโยบายให้พัฒนาชุดตรวจวัดสุขภาพประชาชน (Health Indicator) เพื่อเป็นตัวชี้วัดผลการทำงานของกรมฯ ซึ่งขณะนี้ได้ขยายงานลงถึงระดับตำบล ชุมชน หมู่บ้าน และครอบครัวว่าได้ผลอย่างไร เพราะที่ผ่านมาการวัดผลมักจะประเมินที่กระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ป็นส่วนใหญ่ ยังไม่ตอบเรื่องประสิทธิผลที่เกิดขึ้นกับสุขภาพของประชาชน