ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาชิปที่ใช้วัสดุนาโนประกอบการวิเคราะห์ทางเคมีได้อย่างสะดวก โดยเฉพาะด้านการแพทย์ ส่งผลให้มีการวิเคราะห์โรคได้ง่ายและรวดเร็ว สามารถผลิตใช้ได้เองภายในประเทศ และมีราคาถูก

นายอดิสร เตือนตรานนท์

นายอดิสร เตือนตรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้ที่ได้รับรางวัลเมธีวิจัย รุ่นกลางดีเด่น 2015 TRF - OHEC -Scopus Researcher Award กล่าวว่า จากการศึกษาเรื่องระบบปฏิบัติการของไหลจุลภาคบนชิปที่มีวัสดุนาโนประกอบรวมสำหรับการทางเคมีอย่างรวดเร็ว ในภาพรวมเป็นการวิจัยในห้องปฏิบัติการบนชิป หรือ Lab-on-a-chip เป็นเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการตรวจวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพสูง ตรวจวัดได้รวดเร็ว มีความแม่นยำสูง มีความน่าเชื่อถือสูง มีขนาดเล็ก สามารถพกพาไปออกตรวจนอกสถานที่ (Poin-of-care) และมีราคาถูก

นายอดิสร กล่าวว่า  การสร้างชิปนาโนดังกล่าว อาศัยเทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างโครงสร้างขนาดเล็กของท่อขนาดไมโครเมตร ปั้มขนาดเล็ก บนชิปที่ทำมาจากวัสดุประเภทแล้วหรือพลาสติก

ส่วนขั้นตอนการเตรียมสาร แยกสาร และและแยกการตรวจวัดต่างๆที่แตกต่างและหลากหลายประกอบรวมเข้าในระบบห้องปฏิบัติการบนชิป ทำให้สามารถตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างที่เป็นของเหลวในปริมาตรน้อยถึงระดับนาโนลิตรและไมโครลิตรได้ จากผลงานวิจัยที่ได้ทำให้ได้เซ็นเซอร์บนชิปที่ทำหน้าที่เป็นแผ่นตรวจที่สามารถตรวจวัดทางเคมีและชีวภาพ ที่ใช้สารเคมีน้อยลง ราคาถูก ใช้ตัวอย่างน้อยลง สามารถตรวจวัดได้แม่นยำเทียบเท่าเครื่องมือมาตรฐานในห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาล ราคาถูกสามารถ ใช้แล้วทิ้ง ขนาดเล็ก สามารถนำไปตรวจวัดนอกสถานที่ได้ และประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย เช่น ชิปตรวจวัดคอเรสเตอรอล ชิปตรวจวัดสารเร่งเนื้อแดงในอาหาร เป็นต้น

นายอดิสร กล่าวว่า สำหรับข้อแตกต่างและข้อดีของชิปตรวจ ที่เห็นได้ชัดเจนเมื่อเทียบกับชุดตรวจที่มีในปัจจุบัน คือ มีขนาดเล็ก แม่นยำ ราคาถูก ใช้ของเหลวที่ตรวจน้อยมากซึ่งจุดเด่นที่กล่าวมานั้นเป็นคอนเซ็ปต์ในการทำงาน โดยมีโจทย์ของการทำงานต้องเป็นชุดตรวจที่ออกแบบมาสามารถนำไปใช้ได้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ในการพัฒนาชุดตรวจนาโนชิปใช้เวลาในการทำงานเป็นเวลา 4 ปี

“ชุดตรวจดังกล่าวสามารถพัฒนาให้ตรวจคอเลสเตอรอล โรคอหิวาต์ หรือหาสารเร่งเนื้อแดงได้ ในเบื้องต้นชุดตรวจนี้มีจุดเด่นคือใช้ง่าย ให้ผลเร็ว ราคาถูก ซึ่งใช้ง่าย คือ ชุดตรวจมีขนาดเล็กสะดวกในการพกพาไปยังสถานที่ต่างๆ ตัวอย่างที่ใช้ในการทดสอบ เช่น ชุดตรวจคอเลสเตอรอล จะใช้เลือดในปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับการตรวจทั่วไป ในการตรวจ 1 ครั้ง จะใช้ปริมาณเลือดปริมาณแค่นาโนลิตร ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมากจริงๆ ขณะเดียวกันผลตรวจมีความแม่นยำ และรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาส่งตรวจที่ห้องแลป และมีราคาถูกมาก ราคาเริ่มแรกที่ทำอยู่ประมาณ 20 บาท ต่อ 1 ชุด ในอนาคตจะต้องมีการพัฒนาต่อไป”

ส่วนเรื่องของการพัฒนาชุดตรวจนาโนชิปที่ใช้ในการแพทย์นั้น นายอดิสร กล่าวว่า อยู่ในระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพของชุดตรวจนาโนชิปที่ใช้กับโรคอหิวาต์กับโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ถ้าหากประสบความสำเร็จได้ผลได้ดี จะเป็นผลดีต่อวงการแพทย์ และประชาชนในถิ่นทุรกันดารเป็นอย่างมาก เพราะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจะมีข้อจำกัดในหลายๆด้าน ส่วนประโยชน์ในภาพรวม คือ จะทำให้มีการควบคุมโรคในพื้นที่ห่างไกลได้ง่ายขึ้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง