ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคพร้อมสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญและข้อมูลวิชาการ เพื่อศึกษาต่อยอด “การทำหมันยุงลาย” หนุนกำจัดและลดการแพร่พันธุ์ยุงลาย ป้องกันโรคไข้เลือดออก 

นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า โครงการทำหมันยุงลาย ที่กำลังได้รับความสนใจและกำลังอยู่ในขั้นตอนลงศึกษาทดลองในพื้นที่ หากประสบความสำเร็จ จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการลดการแพร่พันธุ์ของยุงลาย โดยโครงการนี้เกิดจากการค้นพบเชื้อแบคทีเรียโวลบาเกียที่อาศัยอยู่ในตัวยุงลายสวน ซึ่งเชื้อโวลบาเกียมีคุณสมบัติพิเศษ ทำให้การสืบพันธุ์ในยุงเพศผู้ที่มีเชื้อกับยุงเพศเมียที่ไม่มีเชื้อล้มเหลว ทำให้ไข่ยุงฝ่อในที่สุด ในธรรมชาติยุงลายบ้านจะไม่มีเชื้อโวลบาเกีย แต่จะพบเชื้อในยุงลายสวน

จากการศึกษาทดลองในห้องปฏิบัติการทำให้สามารถสกัดเชื้อโวลบาเกียจากยุงลายสวน จากนั้นนำเชื้อฉีดใส่ในตัวยุงลายบ้านได้สำเร็จ แล้วนำไปเลี้ยงขยายพันธุ์ต่อเพื่อเพิ่มปริมาณให้เพียงพอก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ ที่สำคัญลูกหลานของยุงนี้จะได้รับเชื้อโวลบาเกียจากยุงตัวแม่โดยอัตโนมัติ โดยการส่งผ่านไปพร้อมกับไข่ยุง เนื่องจากเชื้อโวลบาเกียมักชอบอาศัยอยู่ในรังไข่ยุง ในการปล่อยยุงนั้นจะใช้เฉพาะยุงเพศผู้เท่านั้นและก่อนปล่อยจะทำการฉายรังสีให้เป็นหมันก่อนเพื่อทำให้ยุงเพศเมียมีเชื้อโวลบาเกียซึ่งอาจปะปนมาด้วยเป็นหมันและไม่สามารถหลุดไปแพร่พันธุ์ได้ และเนื่องจากยุงลายและเชื้อโวลบาเกียที่ใช้เป็นสิ่งที่พบอยู่ในธรรมชาติของประเทศไทยอยู่แล้ว จึงมีความปลอดภัย 

ส่วนประโยชน์ที่ได้จากโครงการนี้ คือ 1.ช่วยลดจำนวนยุงในธรรมชาติ  2.สามารถใช้เป็นมาตรการเสริมร่วมกับการใช้สารเคมีควบคุมยุงตามปกติได้ ซึ่งการพ่นสารเคมีควรพ่นก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นจริงๆเท่านั้น เช่น เมื่อมีการระบาดของโรค ซึ่งวัตถุประสงค์ในการพ่นเพื่อกำจัดยุงที่กำลังมีเชื้อโรคระยะแพร่เชื้อหรือระยะบ่มเชื้ออยู่ในตัวให้ตายลงทันทีเท่านั้น 3.ยุงเพศผู้สามารถบินค้นหายุงเพศเมียที่ยังไม่ถูกผสมพันธุ์ ซึ่งมักเป็นยุงที่เกิดใหม่ที่อาศัยอยู่ใกล้ๆแหล่งเพาะพันธุ์ ซึ่งพวกมันจะสามารค้นพบกันได้เองแม้ว่าแหล่งเพาะพันธุ์จะอยู่ซ่อนเร้นก็ตาม และ 4.เมื่อยุงลดปริมาณลงโอกาสที่จะมียุงจำนวนมากๆ มากัดผู้ป่วยและได้รับเชื้อไปแพร่สู่ผู้อื่นก็จะลดลง เป็นการช่วยตัดวงจรการแพร่เชื้อได้อีกทางหนึ่งนั่นเอง

นพ.อำนวย กล่าวว่า ในส่วนของกรมควบคุมโรค ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อพิจารณาสาระสำคัญ ข้อมูลวิชาการ และประเด็นเชิงนโยบายนี้ โดยมอบหมายให้ นพ.วิชัย สติมัย ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค เป็นประธานคณะทำงาน  นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค ยังมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและข้อมูลวิชาการต่างๆ พร้อมสนับสนุนการศึกษาทดลอง เพื่อให้ได้ผลการศึกษาดังกล่าว รวมถึงการสนับสนุนให้นำผลไปศึกษาต่อยอดและขยายผลการดำเนินงานไปในพื้นที่เป้าหมายอื่นๆ ต่อไป  ทีสำคัญโครงการทำหมันยุงนี้ ยังถือเป็นนวัตกรรมที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะหากประสบความสำเร็จแล้ว นอกจากจะลดการแพร่พันธุ์ของยุงลายและสามารถควบคุมโรคไข้เลือดออกได้แล้ว ยังสามารถควบคุมโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ เช่น โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ได้อีกด้วย