ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อภ.แนะชุดทดสอบฟอร์มาลินในอาหาร ก่อนนำมาปรุงหรือรับประทาน ระบุ อภ.ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สะดวกในการใช้งาน โดย 1 ชุดสามารถตรวจได้ 1 ตัวอย่าง ชุดทดสอบมีความไว สามารถตรวจได้ที่ระดับต่ำสุด 0.5 มิลลิกรัม/ กิโลกรัม(ppm)ทดสอบได้ง่ายด้วยตนเอง

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า จากการที่มีกลุ่มผู้ค้าที่ขายอาหารทะเลสด ผักสด เครื่องในสด นำสารฟอร์มาลินมาแช่อาหาร เพื่อให้สดใสอยู่เสมอนั้น กรมอนามัยจึงได้มีการสุ่มตรวจอาหารทะเลในตลาดสด ล่าสุดเมื่อ ปี 2558 พบอาหารทะเลมีการปนเปื้อนสารฟอร์มาลินมากที่สุด คือ หมึกกรอบ รองลงมา คือ หมึกสด  ซึ่งสาร“ฟอร์มาลิน” นั้น เป็นสารเคมีชนิดหนึ่ง อยู่ในรูปของ “สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์” ซึ่งหากอยู่ในสถานะก๊าซจะมีชื่อเรียกว่า “ฟอร์มัลดีไฮด์” 

ในทางการแพทย์จะใช้ฟอร์มาลินในการดองศพไม่ให้เน่าเปื่อย ใช้ฆ่าเชื้อโรค ฆ่าเชื้อรา และทำความสะอาดห้องผู้ป่วย หากมีการรับประทานเข้าไป และสะสมเป็นเวลานาน จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ หรือหากสัมผัสกับสารฟอร์มาลินโดยตรง หรือสูดดม จะทำให้ผิวหนังอักเสบ ผิวหนังอาจไหม้ หรือเปลี่ยนเป็นสีขาวได้ ระคายเคืองที่ตา จมูก ระบบทางเดินหายใจ และถ้าหากรับประทานในปริมาณที่มากถึง 30-60 มิลลิลิตร จะทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรง อาเจียน ท้องเดิน หมดสติ และอาจเสียชีวิต

นพ.นพพร กล่าวต่อว่า แม้ปัจจุบันจะมีการรณรงค์ไม่ให้มีการใช้ฟอร์มาลินแช่ หรือดองอาหาร โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศฉบับที่ 93 พ.ศ.2528 เรื่องวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใดละเมิดใส่ในอาหารต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ฐานผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์ แต่ก็ยังพบว่ามีการใช้กันอย่างแพร่หลาย การหลีกเลี่ยงสารฟอร์มาลินที่ปนเปื้อนในอาหาร อาจจะดูเป็นเรื่องยาก ดังนั้นหากต้องซื้ออาหารทะเล หรือผักสดจากท้องตลาดทั่วไป ผู้บริโภคควรสังเกตลักษณะของอาหารว่ามีความสด ใหม่ แตกต่างจากปกติหรือไม่

และเพื่อให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น สามารถตรวจด้วยชุดทดสอบฟอร์มาลินในอาหาร ก่อนนำมาปรุงหรือรับประทาน ซึ่งชุดทดสอบฟอร์มาลินนี้ อภ.ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สะดวกในการใช้งาน โดย 1 ชุดสามารถตรวจได้ 1 ตัวอย่าง ชุดทดสอบมีความไว สามารถตรวจได้ที่ระดับต่ำสุด 0.5 มิลลิกรัม/ กิโลกรัม(ppm) ทดสอบได้ง่ายด้วยตนเอง โดยเทน้ำแช่อาหารที่สงสัยลงในขวดหมายเลข 1 ประมาณ 1 ใน 3 ของขวด ปิดฝาเขย่าจนสารทดสอบละลายหมด แล้วเทของเหลวทั้งหมดลงในขวดหมายเลข 2 ปิดฝาเขย่าเล็กน้อย จากนั้นเทของเหลวทั้งหมดลงในขวดหมายเลข 3 ปิดฝาเขย่าเบาๆ ให้ของเหลวเข้ากัน สังเกตสีที่เกิดขึ้น  ถ้าของเหลวมีสีชมพูจนถึงสีแดง แสดงว่าน้ำมีฟอร์มาลินผสมอยู่